จ่อเอาผิดผู้ผลิตปลาร้า ‘ลัทธิแหวะ’ หลังพบอาจมีสิ่งปฏิกูล แนะผู้บริโภคซื้อจากแหล่งน่าเชื่อถือ

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากสำนักลัทธิประหลาด “โจเซฟ” ที่ลูกศิษย์อ้างว่าเป็นพระบิดา ซึ่งพบว่ามีการกระจายไปในหลายพื้นที่ โดยจากการตรวจสอบสถานที่ผลิตในเบื้องต้น พบว่ามีสิ่งเจือปน และมีหนอนขึ้นบ่อหมักปลาร้า ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชัยภูมิ ได้เก็บตัวอย่างอาหารที่ผลิตจากสถานที่ตั้งสำนักของนายโจเซฟ ไปตรวจสอบ เนื่องจากอาหารที่ผลิตในสถานที่ดังกล่าว ไม่ได้ขออนุญาตผลิตอย่างถูกต้อง เราจึงต้องตรวจหาจุลินทรีย์ในอาหาร โดยส่งไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์นครราชสีมาแล้ว คาดว่าจะทราบผลในสัปดาห์หน้า แต่เท่าที่ดูจากแหล่งผลิตและสินค้าที่ไม่ได้ขออนุญาต ก็ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะอยู่แล้ว

เลขาธิการอย. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การจดแจ้งสินค้ากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นั้น สถานที่ผลิตต้องถูกสุขลักษณะ อาหารต้องมีฉลาก ไม่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์หรือโลหะหนักที่ทำให้เกิดโรค ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้ว พบสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพก็จะมีความผิด

“ปลาร้าลักษณะเป็นแพคเกจ ตามปกติ เวลาจะจำหน่ายต้องขออนุญาตสถานที่ผลิตและขอฉลากที่มีเลขจดแจ้ง 13 หลัก จาก อย. ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของ อย. ส่วนการจำหน่ายเหมือนผลิตอาหารทั่วไป ไม่มีแพ็คเกจ สามารถตั้งวางจำหน่ายหน้าร้านได้เลย โดยขอเน้นย้ำว่า ประชาชนที่จะซื้อสินค้าปลาร้า หรืออาหารอื่นๆ ต้องดูสิ่งสำคัญ คือ สถานที่ผลิตต้องมีความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้” นพ.ไพศาล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องการผลิตอาหารมีปัญหาด้านสุขภาพทางจิต กฎหมายจะเอาผิดได้หรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในการผลิตอาหาร จะต้องมีระบุชื่อผู้ผลิตชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นสถานที่ผลิตก็ไม่ได้ขออนุญาต และหากผลการตรวจอาหารพบการปนเปื้อน ก็มีโทษทั้งนั้น

Advertisement

ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับปลาร้าที่ผลิตทั่วไป จะมีมาตรฐานของผู้ผลิต เป็นการหมักผสมกับสารที่ก่อความเค็ม โดยทั่วไปจะมีความปลอดภัย แต่กรณีที่เกิดขึ้นในข่าวที่ จ.ชัยภูมิ ทางกรมอนามัยได้ส่งเจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัย เขตสุขภาพที่ 9 ตรวจสอบพื้นที่แล้ว พบว่าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ และอาจมีการผสมสิ่งปฏิกูล ส่วนนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยกรมอนามัยได้แนะนำ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข เพื่อดำเนินการทางกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม กรมอนามัยจะเร่งให้ความรู้ประชาชนถึงความรู้ที่ถูกต้องในการผลิตสินค้าปลาร้าที่ถูกสุขลักษณะ และการรับประทานที่ถูกต้อง อีกทั้งต้องมีการให้ความรู้กรณีที่มีการบริโภคหรือเอาสิ่งปฏิกูลเข้าสู่ร่างกายด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image