ส่องแผนย้ายศาลาว่าการ กทม. จาก ‘เสาชิงช้า’ สู่ ‘ดินแดง’

ส่องแผนย้ายศาลาว่าการ กทม. จาก ‘เสาชิงช้า’ สู่ ‘ดินแดง’

แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเป็นทางการ แต่ตลอดช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เดินสายตรวจงานอย่างแข็งขัน และ 1 ในงานที่ว่าที่ผู้ว่าฯชัชชาติ ประกาศว่าจะลงมือทำคือ จะย้ายหน่วยงานในสังกัด กทม. และห้องทำงานของคณะผู้บริหารทั้งฝ่ายข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองทั้งหมด ออกจากศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ไปอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง เพื่อจะปรับปรุงให้ศาลาว่าการ กทม. 1 เป็นพิพิธภัณฑ์คนเมือง และปรับพื้นที่ลานคนเมืองที่ชั้นใต้ดินเป็นลานจอดรถยนต์ของข้าราชการ และบางส่วนของบนผิวดินมักล้อมรั้วเป็นจุดจอดของหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางของเกาะรัตนโกสินทร์ เขตพระนคร

โดยจะทำให้เป็นฮับ (Hub) สำหรับการท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ กระจายออกไปจุดต่างๆ อาทิ เรื่องการใช้จักรยาน สอดคล้องกับนโยบายหาเสียงของว่าที่ผู้ว่าฯชัชชาติ ระบุไว้ในนโยบาย ด้านสร้างสรรค์ดี เกี่ยวกับแนวทางเปลี่ยนศาลาว่าการ กทม.และลานคนเมือง ไปสู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร และพื้นที่สร้างสรรค์ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.คนกรุงเทพฯ จะได้ได้พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ 2.ได้รู้จักกรุงเทพฯมากยิ่งขึ้น ได้พื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะ แห่งใหม่ใจกลางสะดือเมือง และ 3.เป็นโมเดลของการสร้างพื้นที่ประเภท Third Place ในระดับเมือง

แนวคิดนี้ พอจะเป็นไปได้หรือไม่?

หากย้อนกลับไปดูแผนงานของผู้บริหาร กทม.ชุดก่อนๆ จะพบว่า แนวคิดเรื่องการปรับศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองได้ปรากฏขึ้นในปี 2555 เนื่องจากคณะผู้บริหาร กทม.มีแผนจะย้ายศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า ไปอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง ด้วยเหตุผลว่าพื้นที่เดิมเริ่มรองรับไม่ไหว และมีปัญหาเรื่องการเดินทางเข้า-ออก แต่การก่อสร้างอาคารศาลาว่าการ กทม.2 เกิดความล่าช้า ทำให้โครงการดังกล่าวเงียบหายไป

Advertisement

ย้อนประวัติศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า ตั้งอยู่ที่เลขที่ 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร โดยมี หม่อมเจ้าสมัยเฉลิมกฤดากร สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบศาลาว่าการเทศบาลนครกรุงเทพ (ชื่อในขณะนั้น) มีห้องประชุมสภาเทศบาลเป็นแบบหลังคาสูงรอบในมีลานกลาง และสนามทางด้านหน้า ส่วนชั้นล่างของอาคารเป็นที่จอดรถ มีการออกแบบในปี 2488 และจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499

ขณะที่ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง ตั้งอยู่บนถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง ใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท เริ่มมีโครงการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2535 ในสมัยที่ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ว่าฯกทม.เริ่มที่อาคารสูง 37 ชั้น ตามแผนแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ชั้น B1-6 เป็นที่ตั้งของสำนักงานทั่วไป 2.ชั้น 7-19 เป็นส่วนรับรองสมาชิกสภา กทม.และสำนักงานต่างๆ และ 3.ชั้น 20-37 เป็นส่วนของผู้บริหารฝ่ายการเมือง และสำนักงานต่างๆ ปัจจุบันอาคาร 37 ชั้น ชื่อ อาคารธานีนพรัตน์

นอกจากนี้ ยังมีอาคารประกอบ คืออาคารส่วนของงานสภา กทม.ทั้งหมด ชื่อ อาคารไอราวัตพัฒนา ขนาด 6 ชั้น และมีอาคาร 1 และอาคาร 2 ทั้งหมดใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2560 หรือประมาณ 25 ปี และเปิดใช้งานบางส่วนในสมัยของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม. ณ ปัจจุบันใช้งานมาแล้วกว่า 5 ปี แต่ยังคงมีสำนักงาน/หน่วยงานบางส่วนที่ยังคงปฏิบัติอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า เรียกว่าที่ศาลาว่าการ กทม.1 ยังมีการใช้ประโยชน์กันเต็มพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบระหว่างศาลาว่าการ กทม.1 เสาชิงช้า และศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง ทั้ง 2 แห่งมีขนาดแตกต่างกันมาก โดยศาลาว่าการ กทม.1 เนื้อที่ใช้สอยประมาณ 10 ไร่เท่านั้น ขณะที่ศาลาว่าการ กทม.2 เนื้อที่ใช้สอยมากถึง 83 ไร่ ปัจจุบันศาลาว่าการ กทม.2 มีหลายสำนักงานของ กทม.เข้าไปปฏิบัติงานแล้ว ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักการระบายน้ำ สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของงานที่เกี่ยวข้องกับสภากรุงเทพมหานคร อาทิ ห้องประชุมสภา กทม. สำนักงานเลขานุการสภา กทม. ห้องทำงานประธานสภา กทม. เป็นต้น

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. กล่าวว่า เรื่องการย้ายนั้น มีความเป็นไปได้ เพราะพื้นที่ของศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง ใหญ่กว่าศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้ามาก หากทำจริงตามนโยบายของว่าที่ผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17 อาจจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ ก็มีย้ายสำนักงานไปบ้างแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ที่ศาลาว่าการ กทม.1 ก็คือ สำนักงานปลัด กทม. สำนักงานเลขานุการ ผู้ว่าฯกทม. สำนักงานข้าราชการ กทม. สำนักการคลัง สำนักงบประมาณ กทม. สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานผู้ตรวจราชการ กทม. สำนักงานประชาสัมพันธ์ หากส่วนงานเหล่านี้ ย้ายไปที่ กทม.2 แต่ก็ไม่ติดปัญหาอะไร แต่ต้องใช้งบประมาณ ต้องไปแบ่งสัดส่วนพื้นที่ห้องทำงานกัน ล่าสุดมีการประชุมหารือในเรื่องนี้ โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม.เข้าร่วมการประชุมด้วย และได้สั่งการในส่วนของเรื่องการดูพื้นที่ และแบ่งพื้นที่ไปบ้างแล้ว ก็ต้องอิงตามอาคารที่มีอยู่ในขณะนี้ พอไม่พอก็ค่อยดูอีกที นายขจิตกล่าว

ปลัด กทม.กล่าวอีกว่า คาดว่าจะย้ายไปได้ก่อนในเร็วๆ นี้ ตามแผนคือ สำนักการจราจรและขนส่ง เพราะจะต้องปรับปรุงอาคารเดิม ส่วนจะใช้ระยะเวลาในการย้ายทั้งหมดที่เหลือนานหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ เพราะต้องตั้งงบประมาณในการดำเนินการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image