ชัชชาติ ตอบ ‘พ่อโฟกัส-เฮียล้าน’ ปมเสาไฟฟ้า ภาษีป้าย เห็นพ้อง ส.ก.ป้อมปราบฯ ช่วยหมาแมว

ชัชชาติ ตอบ ‘พ่อโฟกัส-เฮียล้าน’ ปมเสาไฟฟ้า ภาษีป้าย เห็นพ้อง ส.ก.ป้อมปราบฯ ช่วยหมาแมว

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยวันนี้มีการพิจารณาญัตติ ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566
นายชัชชาติกล่าวในตอนหนึ่งหลังจบการอภิปรายของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ว่าเป็นการอภิปรายที่ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าเหมือนกับเรามีทีมงานอีก 50 คน ที่มาช่วยดูปัญหาต่างๆ ตนนั่งตลอด ยังไม่กล้ารับประทานข้าวกลางวัน เพราะอยากจะฟัง อยากจะจดปัญหาทุกอย่าง เพราะเหมือนช่วยให้เห็นปัญหาที่แท้จริง สำหรับประเด็นเรื่อง ‘ความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการทำงาน’ เชื่อว่าผู้บริหารชุดนี้มีความตั้งใจเต็มที่ว่าจะต้องใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าการประมูล จัดซื้อจัดจ้าง ยินดีที่ทางสมาชิกทั้งหลายจะมาร่วมในกระบวนการตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้น คือส่วนสำคัญ งบประมาณเราไม่ได้เยอะ ถ้ามีงบประมาณเหลือกลับคืนมาพี่น้องประชาชนน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น

“ท่านสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.จอมทอง ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องงบประมาณ เรียนไปแล้วว่าถ้ารวมกับของรัฐบาลจะมากขึ้น เรื่องป้ายและภาษีที่ดินเขตดอนเมืองกำลังเช็กว่าเท่าไหร่ เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันบางอย่างรัฐบาลก็ให้งบมา 70 เปอร์เซ็นต์ เราต้องแมตช์ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะอยู่ในงบกลาง ส่วนโครงการต่างๆ ที่กล่าวมา โครงการคลองสามวา ศูนย์สาธารณสุขแสมดำ พระราม 2 เดี๋ยวไปติดตามรายละเอียดปัญหาให้ โครงการที่มีผลกระทบกับหมู่บ้านต่างๆ จะไปตรวจสอบให้ ลิสต์ไว้หมดแล้ว”

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนข้อบัญญัติ ‘เรื่องการดูแลทรัพย์สินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน’ คือเรื่องที่เราเจอทุกคน บางท่านลงไปพบว่าเป็นที่สาธารณะ ทำไม่ได้ ต้องใช้เงิน ก็มีข้อบัญญัติอยู่ ได้ปรึกษารองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ผิวงาม อยู่ตลอด เมื่อวานก็ไปหารือกับการเคหะเอง บอกว่าพื้นที่การเคหะบางส่วนที่ไม่มีคนดูแล ยกเป็นที่สาธารณะได้หรือไม่ ให้เราดูแล ก็จะรับเรื่องนี้ไป นอกจากนี้ มี ส.ก.กังวลเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเราพยายามจะเก็บให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงเรื่องขยะที่ได้อธิบายไปแล้ว

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวต่อไปว่า สำหรับนายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย พูดถึงประเด็นเรื่องเสาไฟฟ้าสามารถจัดเก็บภาษีโรงเรือนได้หรือไม่ จัดเก็บไม่ได้ เพราะไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง เดี๋ยวเราจะคุยกับการไฟฟ้าอีกที เพราะเป็นการเอาไปให้เช่าต่อ ส่วนเรื่องเครื่องสูบน้ำ ไม่เป็นระบบออโตเมติก ปัจจุบันเราทำอยู่ คิดว่าอาจจะปรับเปลี่ยนให้มีการปรับออโต้ได้ในบางจุดที่สำคัญ

“ท่าน ส.ก.บางนา ก็เรื่องรถคอนเทนเนอร์ที่วิ่ง ซึ่งบางนามีรถคอนเทนเนอร์เยอะ ยิ่งสร้างมลภาวะ จะเข้าไปดูรายละเอียดเรื่องการควบคุมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ท่าน นิภาพรรณ จึงเลิศศิริ ส.ก.ป้อมปราบศัตรูพ่าย ต้องขอบคุณมาก เรื่องหมา-แมว ต้องเอาอาสาสมัครมาช่วยมากขึ้น อาจจะแจกเป็นคูปอง ให้อาสาสมัคร อาจจะเป็นนักเรียนแพทย์ฝึกหัดมาช่วยทำเรื่องหมาแมวให้มากขึ้น ส่วนเรื่องการใช้ไฟของสภาแห่งนี้คงต้องดู สภานี้อายุเยอะ ถ้าสังเกตลิฟต์จะมีรอยถูกงัดประตูเยอะ เพราะลิฟต์ติดบ่อย เราอยู่ฝั่งนี้ก็ดีแล้ว ถ้าไปอยู่ฝั่ง 30 ชั้นอาจจะมีปัญหา จะให้ฝ่ายโยธาไปดู” นายชัชชาติกล่าว และว่า

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องงบบุคลากรค่อนข้างสูง ความจริงแล้วต้องดูงบสูงเพราะหน้าที่เราคือลงไปแก้ปัญหาให้ประชาชน อาจจะไม่ได้เหมือนรัฐบาลใหญ่ งบลงทุนของเราตอนนี้อยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์ แต่หลายอย่างในกรุงเทพฯ เงินลงทุนก็มาจากรัฐบาลใหญ่ แต่หน้าที่เราต้องลงไปแก้ไข บางที่ต้องใช้คนเยอะ ในอนาคตอาจจะค่อยๆ เปลี่ยน คนเกษียณในอนาคต อาจจะต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น แต่ขณะนี้เชื่อว่าการใช้คนยังจำเป็นอยู่ เช่น พนักงานกวาด พนักงานรักษาความปลอดภัย ศูนย์สาธารณสุข

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า สำหรับ น.ส.ศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม ส.ก.เขตพระนคร ซึ่งพูดเรื่องงบการศึกษาที่ดูน้อย 644 ล้าน 0.8 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินจำนวนมาก รัฐบาลส่งมาอีกก้อน 20,000 ล้านบาท เงินเดือนครูจะอยู่ตรงนั้น ซึ่งไม่น้อย เกือบ 10,000 ล้าน รายละเอียดเรื่องคลองบางลำพู และโรงเรียนที่รับเงินไม่ครบ มีโรงเรียนเดียวที่ได้รับ คือโรงเรียนวัดราชนัดดา อันนี้เดี๋ยวเราไปปรับ อนาคตต้องให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยมากขึ้น สนามเด็กเล่น ศูนย์กีฬาต่างๆ ก็ต้องทำ ส่วนเรื่องค่าตอบแทนชุมชน คณะกรรมการชุมชนทุกคนพูดถึงเรื่องนี้ คงต้องหารือเพราะเป็นข้อบัญญติที่อาจต้องเข้าสภาอีกที คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะประธาน กรรมการชุมชน มีบทบาท มีผล ช่วงโควิด-19 ถ้ามีประธานชุมชนที่เข้มแข็งจะสามารถพาชุมชนผ่านไปได้

“เรื่องงบชุมชนที่จ่ายเป็นรายเดือนและมีปัญหาเบิกยาก คงต้องทบทวนอีกที ใจเราอยากให้เบิกเป็นรายปีไปเลย ก็อาจจะเอาไปทำโครงการ ดีกว่าไปจับใส่งาน แล้วไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ปัจจุบันทำครุภัณฑ์ไม่ได้ ต้องดูว่าจะปรับรายละเอียดอย่างไร ให้เงินเสียเท่ากัน แต่ทำประโยชน์ได้มากกว่า ต้องดูทั้ง 2 มิติคือ 1.มิติประธานกรรมการชุมชนว่าจะดูแลสวัสดิการอย่างไร และ 2.เงินที่ลงชุมชนรายเดือนจะปรับอย่างไร มีศูนย์สาธารณสุข 1 ซึ่งผมเห็นประจำ จะไปดูว่าปรับปรุงให้ดีได้อย่างไร

ส่วน ส.ก.ห้วยขวาง ต้องการความเป็นธรรม เรื่องอัคคดีภัย ซึ่ง 8 นาทีแรกสำคัญที่สุด ถ้าเราสามารถตอบสนองได้เร็วไฟก็จะไม่ลาม มีงบที่ใช้ฝึกอยู่ อาจจะเป็นหลักสูตรร่วมกับโรงเรียนในการฝึกเด็ก
ท่านพูดประเด็นว่าหมู่บ้านรัชดานิเวศน์ และซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 20 ไม่ได้แวะไป ต้องขอประทานโทษ แต่ถ้ามีโอกาสจะลงไป ต้องเรียนว่าการที่ผมลงหมู่บ้าน ลงพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าผมต้องลงทุกหมู่บ้าน ผมลงให้เป็นตัวอย่างว่า ผอ.เขตต้องเห็นว่าผู้ว่าฯลงและ ผอ.ทุกเขตต้องทำหน้าที่เหมือนกัน คือลงไปดู ไม่ต้องรอผู้ว่าฯ เจ้าหน้าที่ กทม.ต้องลงไปดูแลประชาชนแบบที่ผู้ว่าฯทำ ถ้ามีเหตุอะไรแจ้ง ผอ.เขตได้เลย เพราะเป็นหน้าที่เขาที่จะต้องตอบสนองประชาชน ถ้ามีปัญหาตรงไหนแจ้งผมได้ ถ้ามีปัญหาหนักจะลงไปดูให้” นายชัชชาติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image