ปชป. ลั่นสู้ทุกมาตรา ค้านกัญชาเสรี ซัด สธ.ไม่ฟังเสียงปชช. จี้ปิดสุญญากาศ คืนสถานะยาเสพติด

ปชป. ลั่นสู้ทุกมาตรา ค้านกัญชาเสรี ซัด สธ.ไม่ฟังเสียงปชช. จี้ปิดสุญญากาศ คืนสถานะยาเสพติด

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัดเสวนาพิเศษ “ร่างกฎหมายกัญชา เพื่อกัญชาทางการแพทย์ หรือเพื่อกัญชาเสรี??” นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวตอนหนึ่งในวงเสวนา ว่า ปชป.รับทราบนโยบายกัญชาทางากรแพทย์มาตั้งแต่ปี 2562 แต่หลังปลดจากยาเสพติด แล้วเห็นพิษภัยมากขึ้น ปชป.จึงแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับกัญชาทางการแพทย์ แต่ไม่ใช่กัญชาเพื่อการพี้ หรือกัญชาเสรีที่ใช้สันทนา การที่สายเขียวสนับสนุน อ้างว่ารักษาโรค 39 โรค แต่คนไทยกว่า 65 ล้านคน ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญการรักษาโรคนั้น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับรองเพียง 5 โรคเท่านั้น

“แต่พอ ปชป.ออกมาแสดงจุดยืนกลับโดนสึนามิ และถูกตั้งคำถามว่ารับงานใครมา ยืนยันว่ารับงานประชาชนมา และตามที่ให้กลับไปรกยกร่างใหม่มานั้น แต่ที่จะเสนอกลับมาพิจารณาวาระ 2 เป็นรายมาตรา หลังประชุมเอเปคนั้น กลับพบว่าไม่มีการแก้ไขอะไร ดังนั้น ผมยืนยันจะสู้วาระ 2 ทุกมาตรา เพราะจากการอ่านหลักการเหตุผลของกฎหมาย คือให้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … เพื่อการแพทย์ล้วน ไม่มีนันทนาการ หรือเสรีเลยตกลงกันว่าจะเอากฎหมายแบบไหนก็ต้องร่างตามนั้น จะมาทำเป็นอีแอบ ใส่ไส้ สอดไส้มาตนไม่ยอม” นพ.บัญญัติ กล่าวและว่า ตนจะขออภิปรายทุกมาตราที่เป็นกัญชาเพื่อนันทนาการ เพื่อการพี้ ส่วนสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบ จะชนะหรือไม่ชนะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เคารพการตัดสินใจ
นพ.บัญญัติ กล่าวว่า หากผ่าน ก็ไปสู้ที่วุฒิสภาอีก แต่ถ้าตก จะโทษ ปชป.ไม่ได้ เพราะผู้กำหนดนโยบาย ผู้ยกร่างบอกว่า ถ้าไม่ผ่านโทษ ปชป. โทษว่าพิษภัยในสังคม เพราะ ปชป.ไปคัดค้านกฎหมาย ซึ่งไม่จริง

“เพราะผู้กำหนดนโยบายบอกต่อให้ไม่มีกฎหมายนี้ เขาก็คุมได้ และอันนี้ไม่ใช่กัญชาพอเพียง ต้องพอประมาณ อย่าไปพูดถึงเพื่อเศรษฐกิจ สุดโต่งไป ต้องมีเหตุมีผล แต่เหตุผลที่ฝ่ายนโยบายและคณะ และนักวิชาการฝ่ายสนับสนุนมองโลกด้านเดียว มองเห็นแต่ประโยชน์ ไม่พูดถึงโทษ แล้วสังคมมีภูมิคุ้มกันหรือไม่ อนาคตอาจจะมากกว่าการแพทย์ แต่ก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป หลักการทั้งหมดนี้ตกหมดเลย แล้วใครจะสนับสนุนก็ว่าไปแต่อย่ามาต่อต้าน ปชป.ที่เรากังวลถึงโทษพิษภัย ถ้าต่อต้าน ผมเรียกว่าคนมีความรู้ เอาแต่ประโยชน์ ไม่มีคุณธรรม สธ.ยุคนี้ตกต่ำมาก ไม่ฟังประชาชน แต่เข้าใจว่ากระทรวงลำบากใจ เพราะนโยบายเป็นอย่างนี้ ผู้กำหนดนโยบายก็อย่างนี้ กดไว้ มีแต่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยถึงจะกล้าพูด ถึงเวลาที่ทุกคนต้องตื่นรู้ และบอกความจริงกับสังคม และทำไมไม่ตั้งศูนย์เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต” นพ.บัญญัติ กล่าว

น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กล่าวว่า มีการศึกษาพบกัญชาตอบโจทย์ส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานราก แต่น้อยเพราะต้นทุนทำไม่ได้จริง ดังนั้น จึงเป็นแค่ของกลุ่มทุนใหญ่ ขณะที่ศาสนา เช่น อิสลาม ก็ออกประกาศชัดว่ากัญชาไม่ถือเป็นฮาลาล ยกเว้น กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น

Advertisement

“แต่ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ล่าสุดกลับให้ปลูก 15 ต้น ซึ่งตอบคำถามไม่ได้เลยว่าเพื่อการแพทย์อย่างไร ปกป้องเด็กในพื้นที่อย่างไร แต่กลับทำให้เด็กให้เติบโต คุ้นชินกับสิ่งเสพติด ถ้าเด็กพี้ในบ้านจับไม่ได้ กฎหมายไม่ครอบคลุมจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเด็กรู้สึกว่าสุรา กัญชา ยาบ้าเป็นสิ่งที่ทำได้สนบ้าน หมอที่ออกมาสนับสนุน จากที่ควร No Harm ประชาชน แต่กลับ Do Harm กับประชาชน ร่าง พ.ร.บ.ไม่ค่อยมีเจตนารมณ์ที่จะปกป้องเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง ดูแต่ประโยชน์ที่จะได้ แต่ไม่ดูข้อเสีย ต้นทุนที่จะเสียไปของสังคม ต้นทุนในการปกป้องยาเสพติดเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาอันดับหนึ่งในประเทศไทย ดังนั้นตนไม่อยากให้เกิดขึ้นในบ้านเรา” น.ส.พิมพ์รพี กล่าว

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การประกาศคุมช่อดอก เป็นการออกค่อนข้างผิดเพี้ยน โดยหลักของสมุนไพรควบคุม ต้องคุมทั้งต้น คือ ต้นกัญชา ไม่ได้คุมเฉพาะช่อดอก เพราะถ้าคุมเฉพาะช่อดอก แล้วส่วนอื่น ซึ่งมีสารทีเอชซี (THC) อยู่ ก็สามารถเกิดฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้ ดังนั้น เนื้อหาประกาศที่ออกที่ออกมาใหม่มีลักษณะเอื้อให้ใช้เพื่อสันทนาการ ว่าถ้าคนอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป ขออนุญาต ก็ได้ ซึ่งมันตีความได้ จึงน่าห่วงว่า ออกประกาศไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื้อหาไม่เหมาะสม

“และจากข้อมูลวันนี้ เกษตรกรที่ปลูกกัญชากว่าร้อยละ 80 ปลูกแล้วขาดทุน เพราะไม่ได้เกรดทางการแพทย์ ต้องทำลายหรือเอาไปทำอย่างอื่น เป็นกัญชาที่ไม่ได้คุณภาพ มีเชื้อรา มีพิษ มีการก่อมะเร็ง และเปิดช่องให้เกิดการฟอกเงินได้ นับว่าขัดยุทธศาสตร์ชาติ สร้างปัญหาครอบครัว สังคม” นายไพศาล กล่าว

Advertisement

ด้าน ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีการรวบรวมรายชื่อผู้ที่จะร่วมกันค้านผ่านเว็บไซต์ CHANGE ได้ 1.8 หมื่นคน รายชื่อแพทย์ 1,600 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี ทั้งนี้นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่การปลดกัญชาออกจากยาเสพติดมีผลบังคับใช้นั้น ทำให้ประเทศไทยมีการใช้กัญชาเสรีที่สุดในโลก ไม่มีการควบคุมอะไร ล่าสุด ประกาศที่ออกมาก็คุมแค่ช่อดอกเท่านั้น ส่วนอื่นๆ เช่น ใบ ใช้ได้ปกติ

“ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่กำลังจะพิจารณา ดูแล้วการควบคุมยังต่ำกว่าประเทศที่เสรีสันทนาการด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยอ้างออกกฎหมายเพื่อการแพทย์ เช่น แคนนาดา ให้ปลูกแค่ 4 ต้น อุรุกกวัย ห้ามโฆษณา ดังนั้น ผมจึงต้องออกมาพูด เพราะการปล่อยเสรีเกินไป ส่วนตัวยอมรับได้หากเสรีสันทนาการด้วยซ้ำ แต่ต้องควบคุม ไม่ใช่ให้พ่อแม่ใช้ในบ้านแล้วเด็กก็เห็น ซึ่งในบางประเทศห้ามใช้กัญชาต่อหน้าเด็ก แต่บ้านเราไม่มี ทั้งนี้ นอกจาก พ.ร.บ.กัญชาฯ ต้องปรับปรุงแล้ว ยังจำเป็นต้องเพิกถอนประกาศ สธ.ให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะกว่า พ.ร.บ.กัญชาฯ จะออกมา ก็นาน แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วนั้นมีมาก ดังนั้น ต้องโทษตัวเองที่ปลดล็อกโดยไม่มีอะไรออกมารองรับ” ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าว

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Center for Addiction and Mental Health ประเทศแคนาดา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยเสรีนันทนาการไทยไม่มีเหตุผลใดๆ ไปถึงเสรีนันทนาการ การที่แคนาดา และอุรุกกวัยที่เสรีนันทนาการเพราะเขามีการใช้มากถึงร้อยละ 14 คุมไม่อยู่ จึงต้องเอาขึ้นมาบนดินเพื่อเก็บภาษี แต่ก็ยังมีการควบคุมการปลูก 4 ต้น มิดชิด ไม่โฆษณา ห้ามให้เด็กเห็น แต่ประเทศไทยมีการใช้เพียงร้อยละ 0.2 กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องภาษี แต่ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องเสรีเพื่อสันทนาการ ย้ำว่า กัญชามีชื่อดีเพราะมีสารซีบีดี (CBD) ซึ่งมีในใบ ส่วนดอกนั้นจะมีสารทีเอชซีสูงร้อยละ 10-12 แม้แต่แพทย์แผนไทยที่ใช้ยังใช้เป็นตำรับที่มีสมุนไพรตัวอื่นร่วมด้วย

“ดังนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเสรีทางการแพทย์อยู่แล้ว และอย่าดีใจ หรือถูกหลอกด้วยคำว่าเพื่อเศรษฐกิจ เพราะครอบคลุมหลายอย่าง ถ้าการแพทย์ ไม่เป็นไร แต่อย่างอื่นต้องคิดให้รอบคอบ ขณะนี้สร้างให้สังคมยอมรับกัญชาด้วยการพูดว่ากัญชาทางการแพทย์ แต่ไถลเลยออกไป อันนี้ไม่แฟร์ ถ้าอยากได้เสรีต้องถกกันให้ชัดเจน เพราะมาตรการควบคุมคนละอย่าง และในช่วงสุญญากาศถ้าจะให้กลับไปเป็นยาเสพติด ต้องเขียนให้ชัดว่าเป็นยาเสพติดที่ใช้เพื่อการแพทย์ได้” นพ.บัณฑิต กล่าว

ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ยืนยันไม่เห็นด้วยกับนันทนาการ ไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวในเอเชียยอมรับ เพราะการใช้ชีวิตต่างจากตะวันตก ถ้าบอกว่าเพื่อเศรษฐกิจ

“ต้องมองว่า ประเทศเสือเศรษฐกิจ มีประเทศไหนเล่นกัญชาบ้าง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไม่มีใครเอา เวลาคิดว่าคนอื่นไม่ทำ คือเราฉลาดมากกว่าเขา กับเราโง่มากกว่าเขา ดังนั้น ถ้าเพื่อเศรษฐกิจ ยอมรับมีเงินหมุนเวียนในประเทศ แต่อย่าหวังเอาไปขายต่างประเทศ เพราะกัญชาที่ออกมาไม่ได้เกรดทางการแพทย์ตามประกาศ สธ. สิ่งที่ได้คือ แคดเมียม ตะกั่ว จึงอย่าหวังว่าจะมีประเทศไหนซื้อกัญชาคุณภาพแบบนี้จากประเทศไทย ในต่างประเทศขึ้นบัญชาเป็นยาเสพติดประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกับฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ส่วนปัญหากัญชากับโรคทางจิตเวชนั้นมีมาก คนที่บอกว่าเอาไปใช้เพื่อการนอนหลับดี หรือ รักษา 39 โรค นั้น แต่พอเกิดปัญหาหูแว่ว ประสาทหลอน เขาไม่ได้ไปหาคนพูด แต่ไปหาจิตแพทย์ ซึ่งเจอเยอะ ซึ่งในไทยไม่มีการรวบรวมข้อมูล แต่ที่เดนมาร์คมีการรายงานในวารสารวิชาการ พบว่ามีโรคจิตเวชจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 ในปี 1995 เป็น ร้อยละ 10 ในปี 2010 จึงต้องควบคุมการใช้” ศ.นพ.มานิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image