คมนาคมลุย 36 โปรเจ็กต์ยักษ์ ปลุกลงทุน 9 แสนล้านปี′60

ปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุนด้านขนส่ง 8 ปี ครบถ้วน “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” เป็นแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (Action Plan) รายปี นอกเหนือจากบัญชีงบประมาณประจำปี โดยปี 2559 มี 20 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ไฮไลต์มีมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง สุวรรรณภูมิเฟส 2

ปี 2560 ลุยอีก 36 โครงการ มูลค่ารวม 8.7 แสนล้านบาท เป็นโครงการต่อขยายเฟสแรกที่ถูกคัดจากมูลค่าเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท มีผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ที่พร้อมขออนุมัติ ครม. เช่น รถไฟทางคู่ปากน้ำโพ-เด่นชัย, จิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, เด่นชัย-เชียงใหม่, เด่นชัย-เชียงของ และบ้านไผ่-นครพนม

รถไฟสายสีแดง รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์, สีแดงอ่อน ต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, ตลิ่งชัน-ศาลายา, มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3

Advertisement

ที่พร้อมประมูล อาทิ แอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยายดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท, รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสมุทรปราการ-บางปูกับคูคต-ลำลูกกา และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2-N3

กำลังเริ่มก่อสร้าง มีทางคู่หัวหิน-ประจวบฯ, รถไฟฟ้าสีน้ำเงินบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 และสีส้ม ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งเชียงของ จ.เชียงราย, ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ และกะทู้-ป่าตอง, งานจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าอาคารผู้โดยสารหลัก สนามบินสุวรรณภูมิ และพัฒนาท่าอากาศยานในภูมิภาค

ส่วนโครงการที่ให้พิจารณาไว้ก่อน มี ทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่, ระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต, จุดพักรถบรรทุกขนส่ง

Advertisement

สุดท้ายโครงการที่เปิดให้บริการได้ทันที มีท่าเรือเฟอรี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก เส้นทางพัทยา-หัวหินระยะที่ 1, ระบบตั๋วร่วมจะนำมาใช้บริการเดือน มิ.ย. 2560 เชื่อมระบบบีทีเอส ใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงก์และสายสีม่วง

พร้อมกันนั้น “คมนาคม” ยังบรรจุโครงการเหล่านี้เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี (2560-2579) จะล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศและเทรนด์ของโลกด้วย

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คมนาคม ระบุว่า กระทรวงจัดทำร่างยุทธศาสตร์ 20 ปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบ่ง 5 ด้าน

ได้แก่ 1.การบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น ระบบรางเชื่อมท่าอากาศยานและท่าเรือ, จัดการเส้นทางเดินรถประจำทาง

2.การบริการของคมนาคมขนส่ง ให้สะดวกสบายในการเดินทางและขนส่งสินค้า เช่น ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบขนส่งสินค้า จุดพักรถบรรทุก สถานีขนส่งผู้โดยสาร ปรับปรุงพัฒนาโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินเท้าและขี่จักรยาน

3.ปรับปรุงกฎหมายและปฏิรูปองค์กร เช่น จัดตั้งกรมราง 4.พัฒนาบุคลากรด้านการบิน พาณิชย์นาวี ด้านขนส่ง และ 5.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนา เช่น การบริหารจัดการจราจรอากาศ

แบ่งเวลาเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 (2560-2564) ช่วงแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น แก้จราจรกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเมืองหลักในภูมิภาค

ระยะที่ 2 (2565-2569) ทำโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วถึงและปลอดภัย อาทิ ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน, พัฒนาระบบขนส่งและระบบโลจิกติกส์และพื้นที่เฉพาะ

และระยะที่ 4 (2574-2579) ยกระดับบริการมาตรฐานสากล ด้วยการพัฒนาระบบรางระหว่างเมืองขนส่งสินค้า-ผู้โดยสารเชื่อมทุกโหมด และพัฒนาพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟฟ้า และรถไฟ

จะเห็นว่าลายแทงโครงการมีหมดแล้ว รอเพียงลงมือปฏิบัติเป็นรูปธรรม

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image