นักวิชาการ ชี้ น้ำท่วมหนองคาย เป็นน้ำท่าจากฝนที่ตกในแม่โขงจากลาว ระบุมีอีกมหาศาล ราว 1 สัปดาห์ถึงจะซา
วันที่ 14 กันยายน นายรอยล จิตรดอน ที่ปรึกษา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยกับ มติชนออนไลน์ ว่า สาเหตุหลักของน้ำที่ท่วมพื้นที่ จ.หนองคายเวลานี้ เป็น เพราะ ก่อนหน้านี้ เกิดพายุยางิ นั้น มีฝนตกในพื้นที่ พม่า จีนและ สปป.ลาว ในปริมาณมาก โดย สปป.ลาวนั้น มีพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำโขงมากที่สุด ในบรรดาประเทศที่กล่าวมานี้ รองลงมาคือ ประเทศไทย และจีน 10% โดย ฝนที่ตกลงมานั้นสปป.รับไปเต็มๆมากที่สุด และค่อยๆไหลเข้ามายังประเทศไทย เรียกน้ำนี้ว่า น้ำท่า ซึ่งตอนนี้ น้ำท่า จากสปป.ลาว มีปริมาณค่อนข้างเยอะ ค่อยๆไหลเข้ามาเรื่อยๆ คาดว่า อีกประมาณเป็นสัปดาห์ถึงจะค่อยๆซาลง และสถานการณ์จะดีขึ้น
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ มิตรเอิร์ธ กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นของ แม่น้ำโขงคือ มีความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร จากต้นน้ำบริเวณชายขอบเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ไปจนสุดเวียดนาม โดยถ้าแบ่งตามลุ่มน้ำใหญ่ๆ เราจะแบ่งแม่น้ำโขงออกเป็น 2 ท่อน 2 ชื่อ ท่อนบนคนทิเบต พม่าและจีนเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า หลานชางเจียง (Lancang Jiang) ส่วนท่อนล่างไล่ตั้งแต่ประเทศลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนาม ก็เรียก น้ำโขง บ้าง น้ำของ บ้าง ตามแต่สำเนียง
“ประเด็นเรื่องการสร้างเขื่อนขวางลำโขงของประเทศจีนและลาวมีการถกกันมาพักใหญ่แล้ว และผมก็เห็นพ้องอย่างยิ่งว่าการสร้างเขื่อนขวางโขงนั้นส่งผลในแทบทุกมิติตลอดทั้งพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม ระบบนิเวศ กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ซึ่งผมไม่ขอก้าวล่วงเพราะไม่ใช่ทางถนัด แต่ผมก็เชื่อเหมือนที่หลายๆ คนเชื่อว่าเขื่อนขวางโขงทำให้เกิดการเปลี่ยน และหลายอย่างจะไม่กลับมาเหมือนเดิม”ศ.ดร.สันติ กล่าว
ศ.ดร.สันติ กล่าวว่า สำหรับน้ำที่กำลังท่วมกลายๆพื้นที่ ที่ติดกับแม่น้ำโขงในเวลานี้ ตามภูมิศาสตร์ ลุ่มน้ำคือ ฝนที่ตกหนักในสปป.ลาว และแม่น้ำโขงซึ่งรับน้ำเอาไว้จำนวนมาก ตามธรรมชาติก็จะค่อยๆไหลถ่ายเทไปตามเส้นทาง แต่ในลาวก็มีเขื่อนเล็ก เขื่อนน้อยจำนวนมากที่ขวางทางน้ำเอาไว้
ศ.ดร.สันติ กล่าวว่า ในจำนวนพื้นที่รับน้ำทั้งหมดของแม่น้ำโขง 795,000 ตารางกิโลเมตร ธรรมชาติได้มอบหมายให้ลาว 202,000 ตารางกิโลเมตร (หรือ 25%) เป็นผู้ดูแลคอยจ่ายน้ำลงโขง ส่วนไทย จีนและกัมพูชา ก็ต้องทำหน้าที่ 23% 21% และ 20% ลดหลั่นกันไปตามลำดับไหล่ จะมีก็แต่เวียดนาม ประเทศปลายน้ำที่ให้น้ำกับโขงน้อยที่สุด 8%
จากรูปที่เห็น ผมแปลความว่าตำแหน่งที่ธรรมชาติมอบหมายให้เป็นคนเลี้ยงระดับน้ำโขง พี่ใหญ่จริงๆ ไม่ใช่จีน แต่กลับเป็นลาวเกือบทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาวทางตอนเหนือที่ติดกับจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม แถบๆ นั้น ในขณะที่ภาคอีสานของไทย พื้นที่ส่วนใหญ่หนักไปทางมีสีส้มและเหลือง หมายความว่า ฟ้าก็ไม่ได้ประธานให้เป็นผู้นำ (น้ำ) สู่โขงเช่นกัน
และถ้าดูในแผนที่ด้านล่าง ซึ่งแสดงตำแหน่งของเขื่อนต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการเติมน้ำให้โขง จะเห็นว่าวงกลมสีส้มคือแค่บางส่วนของตำแหน่งเขื่อนขนาดใหญ่ที่ขวาง ลำน้ำโขงสายหลัก (Mekong Mainstream) แต่ถ้าลองสังเกตดูดีๆ จุดสีเหลืองคือจุดที่มีการสร้างเขื่อนตามลำน้ำสายรองที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ไหลมายังประเทศไทย ที่จะผ่าน หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ก็ยังมาก และค่อยๆลดลงตามระยะทาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ.กำชับ “ลำพูน” เฝ้าระวังมวลน้ำก้อนใหญ่จากเชียงใหม่ คาดสูงขึ้นอีก 0.8 เมตร เตรียมทีมแพทย์ดูแลผู้ประสบภัย
- กรุงศรี คาดน้ำท่วม ทำศก.เสียหายมูลค่า 5.95 หมื่นล. คงจีดีปีนี้ที่ 2.4% เชื่อกนง.ตรึงดบ.ถึงสิ้นปี
- ล้างบ้านน้ำท่วมจบแล้ว งานยังไม่จบ ต้องล้างท่อต่อ
- ‘ผบ.รบพิเศษ’สั่งกำลังพลเร่งลงพื้นที่ช่วยภาคเหนือ จับมือกู้ภัยขนย้ายผู้ป่วยติดเตียง