สพฐ.ชี้ผลสอบปม ไส้กรอกแดง ไม่พบปัญหาทุจริต-บกพร่องปฏิบัติหน้าที่ ตั้งกก.กำกับการทำงาน 6 เดือน พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
กรณีเพจเฟซบุ๊กปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ออกมาแฉโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 เพชรบุรี เมื่อปลายเดือนกันยายน 2567 ว่าปรุงอาหารไม่ได้มาตรฐาน โดยเป็นภาพไส้กรอกติดพลาสติก และมีปริมาณน้อย แตกต่างกับภาพที่โรงเรียนส่งรายงานในกลุ่มสภานักเรียนและมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า ไม่ปรากฏว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว แต่เกิดขึ้นจากการบริหารงานที่บกพร่องจนส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องของอาหารกลางวัน นั้น
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สพฐ. ทราบเรื่องดังกล่าว จากเพจเฟซบุ๊กปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ซึ่งว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งให้ตรวจสอบทันที โดยแต่งตั้งตนเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังจากนั้นจึงได้มีการเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพชรบุรี เขต 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง เข้าไปตรวจสอบโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งจากการสอบสวน ไม่พบว่ามีการทุจริตแต่อย่างใดแต่เป็นเรื่องของความหละหลวมในการกำกับดูแลจนส่งผลให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น โดยในเรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องด้วยกันทั้งหมด 4 ราย คือ แม่ครัวที่ทำอาหาร ครูที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำอาหารกลางวัน 2 ราย และผู้อำนวยการโรงเรียน
นายธีร์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นความบกพร่อง ที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กโดยตรง ทางคณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติให้โรงเรียนไปดำเนินการดังนี้ 1.ให้ทบทวนสัญญาจ้างกับแม่ครัวคนดังกล่าว โดยอาจจะเป็นการยกเลิกการจ้าง หรือมีการตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษร 2.ครูที่ทำหน้าที่ดูแลการจัดทำอาหารกลางวัน ซึ่งได้มีการรายงานปัญหาเข้ามา แต่ไม่ทำหน้าที่ในการระงับยับยั้ง จึงถือว่าผิดวินัยไม่ร้ายแรง 3.ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งไม่พบว่ามีการทุจริต แต่ถือว่ามีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่เพราะการจัดทำอาหารกลางวัน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียนในการกำกับดูแลโดยตรงแต่เป็นการมอบหมายหน้าที่ต่างๆ อีกทีหนึ่ง
“สำหรับผู้อำนวยการโรงเรียนทางคณะกรรมการสอบสวนฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ อีกชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อเข้าไปกำกับดูแลการทำงานอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลา 6 เดือนเพื่อปลูกฝังเรื่องของการบริหารงานโรงเรียน ให้เกิดความรอบคอบในการบริหารและลดความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ลง ซึ่งในกรณีนี้ทาง สพฐ.ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีการทุจริตแต่อย่างใดแต่เป็นการบริหารงานบกพร่องจึงไม่ได้มีการสั่งย้ายและใช้วิธีการดูแลอย่างใกล้ชิดแทนเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และในส่วนของเรื่องที่มีการกล่าวหาว่าผู้อำนวยการโรงเรียนนำอาหารกลับไปให้สามีรับประทานทุกวันนั้นไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงคือสามีของผู้อำนวยการโรงเรียนได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นวิทยากรที่มาบรรยายในโรงเรียนจึงต้องมีการนำอาหารมาจัดเลี้ยงซึ่งไม่ได้ผิดระเบียบหรือวินัยแต่อย่างใด เพราะวิทยากรรายอื่นก็ได้รับประทานเช่นเดียวกัน” นายธีร์กล่าว
นายธีร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่เชิญผู้อำนวยการโรงเรียนคนดังกล่าวเข้ามาพบคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งมีการออกเป็นหนังสือคำสั่งเพื่อเรียกเข้าพบเรียบร้อยแล้ว โดย สพฐ.ยืนยันว่าตัดสินเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด ขณะเดียวกันในขั้นตอนการสืบสวนก็ได้มีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมไปถึงตัวของผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งก็ได้ยืนยันตามข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความบกพร่องในการบริหารที่ไม่ได้มีโครงสร้างที่ดีมากพอเพื่อที่จะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาได้ทราบหากมีปัญหาเกิดขึ้นและไม่ได้เกิดจากการทุจริตแต่อย่างใด
“สำหรับวัตถุประสงค์ที่จะต้องมีการเรียนผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ามาคุย ที่ สพฐ.นั้น เพื่อแจ้งมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ตามที่เลขาธิการ กพฐ.มีความเห็นชอบ เพื่อความชัดเจน โดยจะเป็นการมุ่งเน้นให้ปรับปรุงด้านการบริหาร รวมไปถึงในขั้นตอนตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อปลูกฝังและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ในส่วนของการดำเนินการที่ใช้เวลาตรวจสอบนานเพราะเรื่องนี้เป็นกระแสสังคมคณะกรรมการจึงต้องมีการตรวจสอบกันอย่างละเอียดให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้มีข้อบกพร่อง หาข้อเท็จจริงและสร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย” นายธีร์กล่าว
นายธีร์กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากเตือนให้ทุกโรงเรียนได้ปฏิบัติงานและบริหารให้มีความละเอียด ทั้งเรื่องกระบวนการจัดการเรียนการสอน เรื่องของกระบวนการบริหารบุคคล งบประมาณ และการควบคุมภาพรวมต้องมีความละเอียดมากกว่าเดิม เพื่อลดข้อผิดพลาดและความเข้าใจผิดต่อสังคมให้มากที่สุด อยากให้บุคลากรทางการศึกษาทุกคนปฏิบัติงานให้มีความรอบคอบ หากมีข้อสงสัยหรือความไม่แน่ใจให้สอบถามผู้บังคับบัญชาตามระบบราชการ ในส่วนของผู้บริหารอยากให้มีการจัดสัดส่วนการใช้อำนาจให้เหมาะสมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารมากขึ้น เพราะหลายเรื่องที่เกิดปัญหาเกิดจากการใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดข้อผิดพลาดและเกิดเป็นความเข้าใจผิดต่อสังคม
“ทุกครั้งที่มีการประชุมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผมจะเน้นย้ำให้ทางเขตพื้นที่ฯเข้าไปดูแลผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีอายุงานไม่เกิน 5 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่เคยเป็นรองผู้อำนวยการมาก่อน เพื่อลดปัญหาในการบริหารงานโรงเรียน เนื่องจากผู้อำนวยการเหล่านี้ยังไม่มีประสบการณ์มากนักจึงอาจเกิดข้อผิดพลาดในการบริหารที่มีความซับซ้อนได้ ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจนเป็นกระแสสังคมขึ้นมาเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ที่มีการบริหารการจัดการที่ดี แต่ไม่เป็นกระแส” นายธีร์กล่าว