SACIT ดึงครูศิลป์-ครูช่าง สอนงานศิลปหัตถกรรมกลุ่มผู้ต้องขัง หนุนสร้างอาชีพหลังพ้นโทษ
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT เปิดเผยว่า SACIT ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้โอกาสทางสังคม ผ่านการสืบสานและอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า จึงได้ผนึกกำลังกับครูศิลป์ ครูช่าง และทายาท เพื่อช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เสริมทักษะ ประสบการณ์ พัฒนาเทคนิคเชิงช่างด้วยวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ ให้กับกลุ่มผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นหนึ่งในประชาชนกลุ่มเปราะบาง เพื่อจุดประกายและปลูกฝังคุณค่าในตัวเอง ในการสร้างเส้นทางอาชีพ ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้ผู้ต้องขังมีงานสุจริตรองรับ และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีเมื่อพ้นโทษ
ล่าสุด SACIT ร่วมมือกับ ร.ต.หญิง ณัฐชกร บุตรทรัพย์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2567 ประเภทเครื่องไม้ ได้ไปถ่ายทอดความรู้ แนะนำการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ทำจากไม้ และสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ กล่องไม้สำหรับบรรจุกระดาษทิชชูรูปทรงต่างๆ และตู้ไม้สำหรับใส่อุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น ให้กับผู้ต้องขัง ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษพระนครศรีอยุธยา เพราะเห็นว่าการพัฒนาทักษะงานในด้านช่างฝีมือ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ มีความสำคัญและสามารถสร้างงานให้กับผู้ต้องขัง และผู้พ้นโทษ ซึ่งหากมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะที่จำเป็น จะยิ่งช่วยเสริมโอกาสในด้านอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับครอบครัว รวมทั้งเป็นอีกแนวทางที่ช่วยกล่อมเกลาไม่ให้หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
ผศ.ดร.อนุชา กล่าวว่า นอกเหนือจากการช่วยสร้างความรู้ ช่วยพัฒนาฝีมือในการผลิตงานศิลปหัตถกรรม SACIT ยังผลักดันการเปิดพื้นที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์ที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มเปราะบาง ณ SACIT Shop สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นหนึ่งในกระบวนการติดตามผู้ต้องขังภายหลังพ้นโทษ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานรองรับ ให้สามารถมีรายได้จากอาชีพงานหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบ ทรงมีพระปณิธานในการสืบสานและต่อยอดกิจการที่จะขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชาราษฎร์ ตามรอยพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา โดยเฉพาะโครงการหลักอย่าง โครงการกำลังใจ ในพระดำริ ที่ดำเนินกิจการมาถึง 18 ปี และได้มีโครงการต่อยอดที่ครอบคลุมความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการโอกาสในสังคมไทย
การดำเนินการของ SACIT ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการยกระดับศักยภาพช่างศิลปหัตถกรรมไทย อีกทั้งเป็นการสร้างความเสมอภาคให้กับกลุ่มผู้ต้องขังที่ต้องการได้รับการเยียวยาด้านจิตใจผ่านงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เกิดการตระหนักในคุณค่าของตนเอง
ปัจจุบันสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศพบว่า มีประชากรกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้ต้องขังรวม 571,572 ราย โดยจากปี 2555-2567 มียอดจำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว เฉลี่ย 160,000 ราย ในการนี้ SACIT จึงได้เล็งเห็นความสำคัญ และประสานความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ในการสนับสนุน “โครงการพัฒนาทักษะฝีมือด้านอาชีพ” เพื่อสร้างศักยภาพให้แก่ประชากรกลุ่มเปราะบาง และดำเนินการโครงการมาอย่างต่อเนื่อง