อนุทิน ห่วงความปลอดภัยผู้รอดชีวิต ใต้ซากตึกสตง.ถล่ม หลังครบ 24 ชม.
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 29 มีนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าตรวจสอบความคืบหน้าการรื้อถอนเศษซากอาคาร โครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ 30 ชั้น ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงและเขตจตุจักร กรุงเทพฯ ที่เกิดเหตุถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เมื่อช่วงบ่ายโมงของวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา
นายอนุทิน เปิดเผยว่า วันนี้ตนเดินทางมาติดตามความคืบหน้าในการกู้ชีพผู้เคราะห์ร้ายที่ติดอยู่ใต้สร้างอาคาร ซึ่งหากพบผู้บาดเจ็บรอดชีวิตจะมีการเร่งนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงให้เร็วที่สุด
ส่วนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งจะช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบของกฎหมาย โดยทางกระทรวงมหาดไทยได้ประสานไปยังกรมบัญชีกลางขอเพิ่มงบประมาณมาทดลองจ่ายในยามฉุกเฉินวงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งอธิบดีกรมบัญชีกลางยืนยันมาว่า จะเร่งอนุมัติงบประมาณส่วนนี้
นอกจากนี้ยังได้รับการประสานความช่วยเหลือมาจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ปฏิเสธ แต่ว่าตอนนี้เรามีความพร้อมปฏิบัติการเพียงพอ
ส่วนปฏิบัติการเน้นทั้งการกู้ซากและกู้ชีวิต โดยเน้นการค้นหาผู้รอดชีวิตเป็นอันดับแรก แต่หากไม่ทำการกู้ซากก็จะเข้าไม่ถึงตัวผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร เนื่องจากอาคารมีความสูง 30 ชั้น เกิดถล่มลงมาเหลืออยู่ 5 ชั้น นั่นหมายถึงอาคารยุบตัวลึกลงไปใต้พื้นดินมาก พร้อมกับมีซากปรักหักพังขวางกั้นกันเข้าช่วยเหลือ
สำหรับผู้รอดชีวิต 15 คน ได้มีทีมกู้ภัยเป็นทีมที่มีประสบการณ์การกู้ภัยอาคารถล่ม ช่วยดูข้อมูลผ่านอุปกรณ์ค้นหาสัญญาณชีพ และทีมสภาวิศวกร ร่วมทำภารกิจให้การช่วยเหลือ แต่ต้องประเมินความปลอดภัยตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตราย ซึ่งเป็นการทำงานแข่งกับเวลา พอเครื่องสแกนสัญญาณชีพพบจุดไหนก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปค้นหา แต่อุปสรรคคือสิ่งกีดขวางใต้อาคารที่มีจำนวนมาก
ขณะนี้พยายามใช้เครื่องจักรหนักเปิดทางเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ซึ่งยังไม่สามารถส่งนักกู้ภัยเข้าไประหว่างเครื่องจักรหนักทำงานได้ เพราะไม่ปลอดภัย ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของการทำงาน ไม่ล่าช้า เพราะกำลังพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้
นายอนุทิน ยอมรับว่า ครบ 24 ชั่วโมงแล้ว กังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้รอดชีวิต ยืนยันว่าจะทำทุกอย่างให้เร็วที่สุด แต่ไม่สามารถวางกรอบระยะเวลาได้ว่าต้องทำภารกิจให้สำเร็จภายในกี่วัน ตอนนี้อะไรทำได้ก็ทำก่อน
สำหรับสัญญาณชีพที่ตรวจพบ 15 คน เจ้าหน้าที่ได้ทำการใช้อุปกรณ์เป่าลมเข้าไปตามช่องและซอกของซากตึกถล่ม เพื่อนำอากาศเข้าไปใต้ซากอาคารให้ได้มากที่สุด
ส่วนสาเหตุของการถล่มของอาคาร สตง. แห่งใหม่ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายใน 7 วัน เพื่อดูว่าวิธีการก่อสร้างเป็นอย่างไร เพราะอะไรถึงเป็นอาคารแห่งเดียวที่เกิดถล่ม ซึ่งจำเป็นจะต้องสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้