กทม.ผวา อาคารสูง-หนีวุ่น นายกรีบแจง-ยันปลอดภัย สมอ.เช็กเหล็กเส้นตึกสตง. มีบางส่วนไม่ได้มาตรฐาน
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าได้เกิดเหตุการณ์ตึกสูงใน กทม.หลายแห่ง และผู้คนต่างรีบลงจากอาคารสูง อาทิ ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ หน่วยงานหลายแห่งที่ตั้งสำนักงานในอาคารดังกล่าวต่างกรูออกจากห้องทำงานกันโกลาหล มีการแจ้งข่าวว่า ตึกเอ ฝั่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลล้มละลายกลาง สั่นไหว
ขณะที่บริเวณด้านข้างตึกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร.ต.อ.โสรัจ กลิ่นภิรมย์ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจดูอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษครบทุกจุดทุกชั้น โครงสร้างยังไม่มีปัญหา แต่หากผู้ใดยังกังวลให้กลับบ้านได้ไปเวิร์กฟรอมโฮม (WFH) ที่บ้านแทน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกหลายแห่ง เช่น อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ, อาคารสำนักงานประกันสังคม (ดินแดง), อาคารสำนักศาลยุติธรรม ศาลอาญารัชดา ถนนรัชดาภิเษก อาคารธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานใหญ่, โรงพยาบาลตากสิน, อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฯลฯ
ต่อมา กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงสถานการณ์พบการสั่นไหวในตึกสูงหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหวที่เมียนมา มีขนาดเล็ก ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ Ing Shinawatra ระบุว่า กรณีที่มีการแชร์อพยพออกจากตึกขณะนี้ ดิฉันได้ตรวจสอบกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า
1.ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานไม่มีแผ่นดินไหวในประเทศไทย และ after shock จากเมียนมา ไม่กระทบต่อประเทศไทยใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ
2.รอยร้าวที่เกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้เจ้าของตึกสั่งอพยพ เริ่มมีรายงานว่าเป็นรอยร้าวเดิม จึงขอยืนยันคำสั่งเดิมจากท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เจ้าของตึกเร่งตรวจตึก เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นรอยเก่า รอยเดิม หรือรอยใหม่ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้อง
3.ขอให้เจ้าของอาคารเร่งตรวจสอบตึกให้เกิดความแน่ใจก่อนการเปิดให้ใช้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ทำงานหรือผู้พักอาศัย โดยหากไม่แน่ใจ ให้สอบถามไปยังกรมโยธาธิการและ ปภ. เพื่อเข้าร่วมตรวจสอบตึก
4.การอพยพของแต่ละตึกเป็นวิจารณญาณของแต่ละหน่วยงาน แต่ขอให้เป็นคำสั่งที่ชัดเจนและได้ตรวจสอบข้อมูลจากทางราชการแล้ว ขอยืนยันว่า ขอให้รอข่าวจากทางการจะเป็นข่าวที่ได้รับการรับรองว่าถูกต้อง และไม่เกิดการสร้างความกังวลหรือตื่นตระหนกระหว่างพี่น้องประชาชนค่ะ
ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้นำเหล็กทั้ง 7 ประเภท จำนวน 28 ชิ้น ที่เก็บตัวอย่างจากตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มเข้าตรวจสอบค่าทางเคมีและทางกลแล้ว ทั้งนี้ นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย
นายเติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อํานวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ โดยนายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 (สมอ.) แถลงผลการตรวจสอบว่า จากการที่ดูผลทดสอบเบื้องต้น ที่สถาบันเหล็กทดสอบออกมา และจับเกณฑ์ประเมินที่มาตรฐานกำหนด พบว่ามีทั้งที่เป็นไปตามมาตรฐานและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ต้องมีการเข้าพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างมาเพิ่มเติมและทดสอบเพิ่ม เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลในเร็วๆ นี้
เมื่อถามว่า เหล็กที่ได้มาตรฐานกับที่ไม่ได้มาตรฐาน แบบไหนมีเยอะกว่ากัน นายนนทิชัยกล่าวว่า ที่เป็นไปตามมาตรฐานมีจำนวนมากกว่า