แซ่บเว่อร์-เผ็ดจี๊ดจ๊าด น้ำพริกก้นครัว ฮิตติดตลาด-ขึ้นชั้น’พันล้าน’

แซ่บเว่อร์-เผ็ดจี๊ดจ๊าด น้ำพริกก้นครัว ฮิตติดตลาด-ขึ้นชั้น’พันล้าน’

กรณีนางประนอม แดงสุภา ผู้ก่อตั้งน้ำพริกสำเร็จรูปชื่อดังตราแม่ประนอม ในนามบริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตกเป็นข่าวฮือฮา
เนื่องจากมูลค่าทรัพย์สินพิพาท ที่มีการฟ้องร้องกันถึงโรงถึงศาลมีมูลค่าถึง 5 พันล้านบาท

เม็ดเงินในธุรกิจน้ำพริก เมนูคู่ครัวของคนไทย มาช้านานจึงเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ
ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจนี้ทำเงินทำทอง สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการมหาศาล

Advertisement

ทีนี้ลองมาทำความรู้จักผลิตภัณฑ์น้ำพริกที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับผู้ประกอบการในท้องตลาดกันดูบ้าง
ปัจจุบันน้ำพริกสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่วางจำหน่ายในท้องตลาดพบเห็นรูปลักษณ์หลักๆ ได้ 3 ลักษณะ ได้แก่
น้ำพริกบรรจุขวดมีฝาปิดแบบเกลียวหรือบรรจุซอง มีการตกแต่งบรรจุภัณฑ์อย่างดีให้น่าซื้อรับประทาน, น้ำพริกบรรจุในกระปุกพลาสติกใส ติดฉลากข้างกระปุก และน้ำพริกตักใส่ถุงพลาสติก จำหน่ายแบบคิดราคาตามน้ำหนัก ขณะที่สถานที่วางจำหน่ายมีตั้งแต่ตลาดสด ออกร้านตามงานเทศกาลต่างๆ ร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า และส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ตามแต่คุณภาพของน้ำพริก

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหน่วยระบาดวิทยาคลินิก ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุถึงกำลังการผลิตน้ำพริกต่อปี และตราน้ำพริกสำเร็จรูปต่างๆ ในตลาดเมืองไทยว่า ปัจจุบันน้ำพริกแม่ประนอม มีกำลังการผลิต 1,500,000 กิโลกรัม (กก.) น้ำพริกพันท้ายนรสิงห์

กำลังการผลิต 850,000 กก. น้ำพริกศรีราชา กำลังการผลิต 561,600 กก. น้ำพริกศรีราชาพานิช กำลังการผลิต 518,000 กก. น้ำพริกพะเยาว์ กำลังการผลิต 316,000 กก.

Advertisement

น้ำพริกแม่อุษา กำลังการผลิต 312,000 กก. น้ำพริกเจ๊เล็ก กำลังการผลิต 230,000 กก. น้ำพริกไทยคิวพี กำลังการผลิต 192,000 กก. น้ำพริกนิตยา กำลังการผลิต

85,800 กก. น้ำพริกหอมหวน กำลังการผลิต 35,000 กก. น้ำพริกฉั่วฮะเส็ง กำลังการผลิต 25,000 กก. น้ำพริกแม่สำเนียง กำลังการผลิต 10,800 กก. น้ำพริกแม่เล็กสุบิน กำลังการผลิต 7,200 กก. เป็นต้น

โดยช่วงที่มียอดขายสูงที่สุดของปีอยู่ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม มียอดขายน้ำพริกชนิดแบ่งขายเป็นกิโลกรัมประมาณ 5,000 กก.ต่อเดือน และยอดขายแบบชนิดกระปุกประมาณ 150,000 กระปุกต่อเดือน ส่วนช่วงที่มียอดขายน้อยที่สุดของปีอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม โดยมียอดขายชนิดแบ่งขายเป็นกิโลกรัมประมาณ 2,000 กก.ต่อเดือน และยอดขายแบบชนิดกระปุกประมาณ 4,000 กระปุกต่อเดือน เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเทศกาลกินเจ

สำหรับตลาดน้ำพริกโดยภาพรวมนั้น นายธนาวัฒน์ โพธิ์เผื่อนน้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.พี.เอ็น ฟู้ดส์ จำกัด เจ้าของน้ำพริก

มินิรุ่งเจริญ บอกว่า มูลค่าตลาดน้ำพริกสำเร็จรูปในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดเก็บรวบรวมและนำเสนอออกมาอย่างเป็นทางการ ประเมินเบื้องต้นจากยอดขายของบริษัทใหญ่ๆ อย่างแม่ประนอมและบริษัทอื่นๆ ทั้งบริษัทใหญ่ เล็ก กลุ่มชุมชน มูลค่าตลาดน้ำพริกสำเร็จรูปน่าจะเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมมูลค่าการ

ส่งออกอีก สำหรับน้ำพริกสำเร็จรูปมีมากมายหลายยี่ห้อ หลายเจ้ามาก เชื่อว่าเกือบทุกจังหวัดในไทยมีผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำพริกออกสู่ตลาด บางรายอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักนักในระดับประเทศ แต่อาจจะรู้จักในท้องถิ่นนั้น

น้ำพริกนับเป็นอาหารคุ้นปากคนไทยและมีไว้คู่ครัว ทุกภาคทั่วไทยมักมีน้ำพริกรับประทานเคียงกับทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะการรับประทานกับผักสด ปัจจุบันรสชาติน้ำพริกมีหลากหลายขึ้นอยู่กับการประยุกต์และออกแบบรสชาติของผู้ปรุง รวมถึงการใช้วัตถุดิบที่มีเฉพาะถิ่น ข้อมูลจากศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม (BOC) กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่ามีน้ำพริกมากกว่า 200 ชนิด อย่างรสพื้นฐานที่คุ้นเคยกัน เช่น น้ำพริกนรก น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกกะปิ น้ำพริกแมงดา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีน้ำพริกที่ดัดแปลงตามการใช้วัตถุดิบเพื่อให้ได้รสชาติเป็นที่พึงพอใจคนรับประทานและสร้างความแปลกใหม่ เช่น น้ำพริกกากหมู น้ำพริกกุ้งจ่อม น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกไข่ปลาช่อน น้ำพริกไข่แมงดา น้ำพริกตะไคร้ น้ำพริกปลากรอบ น้ำพริกปลาทูเค็ม น้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง น้ำพริกผักชีมะเขือเผา น้ำพริกเผาทรงเครื่อง น้ำพริกมะขามสด น้ำพริกมะม่วงแมงดา น้ำพริกมันกุ้ง เป็นต้น

นอกจากตลาดในประเทศ ตลาดต่างประเทศก็นิยมรับประทานน้ำพริกสำเร็จรูปเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดที่มีการรับประทานอาหารไทย มีร้านอาหารไทย และเป็นประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ประเทศในเอเชีย เป็นต้น รวมถึงประเทศที่มีวิถีชีวิตคล้ายคนไทย อย่างประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ข้อมูลด้านการส่งออกน้ำพริกนี้สอดคล้องกับข้อมูลกระทรวงพาณิชย์

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไม่ใช่เพียงน้ำพริกสำเร็จรูปเท่านั้นที่ส่งออกได้ดี เครื่องปรุงรส และเครื่องแกงของไทยก็เช่นกัน โดยยอดส่งออกน้ำพริกสำเร็จรูปจะรวมไว้ในยอดส่งออกเครื่องปรุง ซึ่งมูลค่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยเทียบการส่งออกสินค้าทั้งหมด แต่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ส่วนมากจะพบการส่งออกเครื่องปรุง 2 รูปแบบหลัก คือ ทำเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กติดตราสินค้าไทย ไปวางขายตามชั้นวางสินค้าในห้าง ร้านค้าในต่างประเทศ กับอีกแบบคือ ส่งขายแบบรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับตลาดต่างประเทศ สำหรับตลาดหลักที่ส่งออก

น้ำพริกสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องปรุง เช่น น้ำปลา ซอส ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่คนไทยอาศัยกันอยู่มากและมีร้านอาหารไทยด้วย

น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกเครื่องปรุงของไทยยังเติบโตได้อีกมาก เพราะปัจจุบันภาครัฐมีการสนับสนุนให้ไทยเป็นครัวของโลก มีการส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ส่งออกทั้งอาหารและวัตถุดิบอาหาร รวมถึงการจัดงานและร่วมงานทางด้านอาหารทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ประกอบกับพ่อครัวต่างชาติที่ประกอบอาหารไทยในต่างแดนในระยะหลังนี้จะเน้นใช้เครื่องปรุงจากไทยเพื่อให้รสชาติเหมือนต้นตำรับน้ำพริกสำรับก้นครัวในอดีต วันนี้ ไม่ธรรมดา

โกอินเตอร์ รสชาติถูกปากถูกใจเป็นที่นิยมแพร่หลาย ทั้งภายในและต่างประเทศ

เผ็ดจี๊ดจ๊าด ตลาดโตวันโตคืน ปีละนับพันๆ ล้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image