หอศิลป์ สมบัติของใคร ?

ปมปัญหา ใครŽ เหมาะสม หรือ สมควร จะเข้าบริหาร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครŽ ในอนาคต ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้กระแสจะดูซาๆ ลง แต่ก็ไม่ได้ถือว่ามีข้อยุติ

แต่เดิมนั้น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครŽ มีชื่อว่า หอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานครŽ ซึ่งหากไล่เรียงที่มาที่ไป กว่าจะมีหอศิลป์ออกมาอวดโฉมตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานครอย่างทุกวันนี้ก็น่าจะพอมีคำตอบ

ตุลาคม 2537 แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย เริ่มมีแนวความคิดในการก่อสร้างหอศิลปะร่วมสมัย ในระหว่างการจัดงานครบรอบ 20 ปี มีการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อการสานต่อแนวคิด และสร้างสำนึกการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกหมู่เหล่า

กันยายน 2538 เริ่มโครงการศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 โดยบรรจุความคิดในการก่อสร้างหอศิลปะร่วมสมัยไว้ในโครงการด้วย

Advertisement

ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 คณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ได้ประชุมร่วมกับ นายพิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้น และได้เสนอแนวคิดเรื่องการสร้างหอศิลปะร่วมสมัย ซึ่งที่ประชุมมีมติให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดสร้าง หอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานครŽ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ศิลปะทุกสาขา

พฤศจิกายน 2539 มีการจัดตั้ง มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9Ž เพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการหอศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร ในช่วงที่ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และกำหนดจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ขึ้น

Advertisement

แต่ ปี 2544 โครงการต้องมาสะดุด เพราะ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเชิงพาณิชย์ โดยให้เอกชนดำเนินการ ท่ามกลางเสียงคัดค้านและการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวของมวลชนให้ทบทวนโครงการสร้างศูนย์การค้า

กระทั่งปี 2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ปรับเปลี่ยนแผนงานเดิมของอดีตผู้ว่าฯสมัคร สานต่อโครงการจนสำเร็จ โดยเห็นชอบให้จัดสร้างหอศิลป์ ด้วยงบประมาณของ กทม. จำนวน 509 ล้านบาท

การก่อสร้างหอศิลป์เริ่มขึ้นในปี 2548 ปีเดียวกันนั้น กทม.ได้มีการทำปฏิญญาศิลปวัฒนธรรม กับองค์กรศิลปะ (เอกชน) กว่า 200 เครือข่าย ที่สวนลุมพินี กำหนดเดิมจะก่อสร้างเสร็จปลายปี 2549 แต่ผู้รับเหมาก่อสร้างล่าช้า ก่อนเสร็จสมบูรณ์เปิดใช้งานได้จริงในปี 2551 แต่อดีตผู้ว่าฯอภิรักษ์ไม่ทันได้เห็นความสำเร็จของหอศิลป์ เพราะได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดโครงการซื้อรถ-เรือดับเพลิง มูลค่า 6.8 พันล้านบาท

ในปี 2552 หลังจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยแรก ขณะนั้นการบริหารหอศิลป์ เดิมจดทะเบียนขึ้นเป็นมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าฯกทม.เป็นประธาน ต่อมาได้เปลี่ยนให้ผู้ว่าฯกทม.นั่งเป็นที่ปรึกษามูลนิธิฯแทน เพื่อลดข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จึงให้มูลนิธิหอศิลป์บริหารงานผ่านคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) จากคณะกรรมการคัดสรร ซึ่งมี
ผู้ว่าฯกทม.แต่งตั้ง

ปี 2554 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (เอ็มโอยู) มอบสิทธิให้มูลนิธิหอศิลป์เป็นผู้บริหารจัดการเป็นเวลา 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2554-2564 โดยมีนายอภิรักษ์เป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลป์จนถึงปัจจุบัน

ครั้งนั้น ยังไม่มีข้อมูลระบุว่าการให้มูลนิธิหอศิลป์ซึ่งเป็นนิติบุคคล เข้าข่ายเอกชนเข้ามาบริหารนั้น ชอบด้วยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 หรือไม่ รวมถึงการของบประมาณอุดหนุน ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เพื่อดูแลหอศิลป์ประมาณปีละ 40 ล้านบาท และมีบางปีสูงถึง 60 ล้านบาทนั้น กทม.สามารถให้เงินอุดหนุนกับมูลนิธิหอศิลป์ได้หรือไม่?

อย่างไรก็ดี ปี 2560 กทม.ได้ของบประมาณประจำปี 2561 ราว 40 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการหอศิลป์ ในหมวดรายจ่ายอื่นต่อสภากรุงเทพมหานคร เหมือนที่ปฏิบัติมาต่อเนื่องหลายปี แต่รอบนี้ไม่ได้รับอนุมัติ ขณะเดียวกัน สภากรุงเทพมหานครได้ทักท้วงว่าระเบียบบริหาร กทม.ไม่มีข้อใดที่เปิดช่องให้ กทม.สามารถนำเงินไปอุดหนุนหอศิลป์ได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการบริหารจัดการตามบันทึกเอ็มโอยูเมื่อ 7 ปีก่อน ว่าถูกต้องตามระเบียบบริหาร กทม.หรือไม่

แล้วที่ผ่านมา 7 ปี กทม.ให้งบอุดหนุนหอศิลป์ได้อย่างไร

ในยุคของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พยายามแก้ไขปัญหา และพบข้อบกพร่องในการบริหารหอศิลป์ ใช้พื้นที่บางส่วนไม่เกิดประโยชน์สูงสุด จึงพยายามหาแนวทางแก้ปัญหา
พล.ต.อ.อัศวินมีแนวคิดอยากทำให้หอศิลป์เป็นพื้นที่เรียนรู้ จัดซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวก แต่ทำไม่ได้ เพราะอยู่ภายใต้การบริหารของมูลนิธิหอศิลป์ ส่วนมูลนิธิหอศิลป์ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ชี้แจงแถลงไขว่าบริหารจัดการหอศิลป์อย่างไรบ้าง หรือแม้แต่การเลือกตั้งบอร์ดบริหาร ก็ไม่มีข้อมูลว่ามีการคัดสรรอย่างไร

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ปัจจุบันนั่งเป็นที่ปรึกษามูลนิธิหอศิลป์โดยตำแหน่ง กลับยืนยันว่าตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นผู้ว่าฯกทม. ไม่เคยทราบว่ามูลนิธิหอศิลป์มีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร ไม่เคยเห็นเอกสารเอ็มโอยู ไม่เคยรู้ว่าบอร์ดบริหารชุดที่ผ่านมาหมดวาระ โดยไม่มีการแต่งตั้ง ที่ผ่านมามูลนิธิหอศิลป์ไม่ได้มาประสานหรือชี้แจงกับผู้ว่าฯกทม. ด้วยเหตุนี้ กทม.จึงพยายามนำหอศิลป์กลับมาบริหารเอง

แต่พลาดตรงที่ ผู้ว่าฯอัศวินไม่ได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มศิลปินและมวลชน กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงขนาดต้องต่อสายตรงบอกให้ผู้ว่าฯอัศวินทำตามใจประชาชน

วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 พล.ต.อ.อัศวินต้องแถลงยุติแนวคิด กทม.เข้าบริหารหอศิลป์อย่างเป็นทางการ และปล่อยให้มูลนิธิหอศิลป์บริหารเองจนครบปี 2564

นับจากวันที่ผู้ว่าฯอัศวินแถลงยุติแนวคิดดังกล่าว ถึงวันนี้ครบ 1 เดือนพอดี แม้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่ที่ต้องขบคิดต่อไปคือ หลังจากครบกำหนดตามเอ็มโอยูแล้ว ใครŽ คือผู้ที่มีความชอบธรรมจะได้เข้าบริหารหอศิลป์แห่งนี้

แน่นอนว่า กว่าปมนี้จะคลายก็คงได้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image