เปิดข้อดีจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเพิ่ม 800-1,000 บ. ผู้ประกันตนได้อะไรบ้าง

จากกรณีเครือข่ายผู้ประกันตนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ภายหลังสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ประกาศความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเพดานเงินเดือนสำหรับเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม  ซึ่งจะต้องมีการแก้พ.ร.บ.ประกันสังคมต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับการเพิ่มเงินสมทบผู้ประกันตน จะเป็นการขยายฐานเพดานเงินเดือนจาก 1.5 หมื่นบาทเป็น 2 หมื่นบาท ในการคำนวณเงินสมทบเข้ากองทุน แต่ยังคงเก็บในอัตราร้อยละ 5 เหมือนเดิม โดยจะเก็บเพิ่มระหว่าง 800-1,000 บาท ปรากฎว่ายังไม่ทันประกาศใช้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานประกันสังคมขับเคลื่อนนโยบายขยายเพดานเงินเดือนเพื่อเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่ม ซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ว่า คปค.เห็นด้วยกับแนวคิดของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) และผลสรุปของ การประพิจารณ์12ครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย  ซึ่งจริงๆแล้วการเพิ่มเงินสมทบโดยขยายเพดานเงินเดือนจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาทนั้น คิดอัตราเท่าเดิมที่ร้อยละ 5  ไม่ได้มีประโยชน์ในแง่การเก็บออมยามชราภาพเท่านั้น  แต่เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกกรณี ทั้งเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ว่างงาน ลาออก หรือเลิกจ้างจะครอบคลุมได้สิทธิประโยชน์ในการดูแลทั้งหมด

นายมนัส กล่าวอีกว่า การขยายเพดานเงินเดือนจาก 15,000 บาท  เป็น 20,000 บาท เพื่อนำมาเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบร้อยละ 5 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์เพิ่มทั้งหมด ยกตัวอย่าง   คนที่ฐานเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท ก็จ่ายเท่าเดิมคือ 750 บาทต่อเดือน สิทธิที่ได้เหมือนเดิมคือ กรณีเจ็บป่วย ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 30 วันต่อปี หากเกินกว่านั้นได้จะเงินชดเชย 7,500 บาทจากประกันสังคม  กรณีทุพพลภาพจะได้ 7,500 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต กรณีลาคลอดบุตร 45 วันของประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนจำนวน 22,500 บาท  กรณีเงินสงเคราะห์ตาย หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 10 ปี หากเสียชีวิตจะได้เงินสงเคราะห์ 6 เดือน หรือ 90,000 บาท  กรณีชราภาพได้ 3,000 บาท ยังไม่นับรวมเพิ่มปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปี กรณีว่างงานลาออกได้เงินชดเชยการว่างงาน 3 เดือนคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือน หรือได้ประมาณ 4,500 บาท ส่วนกรณีว่างงานจากการเลิกจ้าง ได้50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนจำนวน 6 เดือน หรือ 7,500 บาท

“แต่สำหรับการขยายฐานเงินเดือนใหม่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์เหล่านี้ขึ้น ยกตัวอย่าง คนที่ฐานเงินเดือนอยู่ที่ 16,000 บาท ก็จ่ายสมทบเพิ่มเป็น  800 บาทต่อเดือน จะได้เงินเพิ่มกรณีเจ็บป่วย 8,000 บาท  กรณีทุพพลภาพ 8,000 บาทต่อเดือนไปตลอดชีวิต   กรณีลาคลอดบุตร 45 วันของประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนจำนวน    24,000 บาท  กรณีเงินสงเคราะห์การเสียชีวิต หากส่งเกิน 10 ปีจะได้เงินชดเชย 6 เดือน จำนวน  96,000 บาท  กรณีชราภาพได้เงิน 3,200 บาทต่อเดือนยังไม่นับรวมเพิ่มปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปี  กรณีว่างงานจากการลาออกได้เงิน 4,800 บาท และกรณีว่างเงินจากการเลิกจ้างได้เงินจำนวน 8,000 บาท เป็นต้น  จะเห็นว่าหากมีการปรับเพิ่ม สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็ต้องรอการปรับแก้พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ 5” นายมนัส กล่าว

Advertisement

 

ข้อมูลจากเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image