‘โครงการ อย.น้อย’ ป้องกันก่อนเกิดปัญหา

ถูกจับตามองมาตลอดกับการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และผิดกฎหมาย…

ยิ่งไม่นานมานี้มีประเด็นการตรวจจับผลิตภัณฑ์ “เมจิกสกิน” ที่มีดารานักแสดงมารีวิวกินแล้วขาวใส ทั้งที่สวมเลขทะเบียน อย.ปลอม หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหร “ลีน” ที่อ้างลดน้ำหนัก แต่พบสารไซบูทรามีนและยาระบาย จนมีผู้เสียชีวิต เป็นข่าวครึกโครมไปทั่ว

แน่นอนว่าการตรวจจับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการเฝ้าระวังและร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่ประเด็นสำคัญ คือการสร้างความตระหนัก หรือการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เรียกว่า Health Literacy ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นปราการด่านแรกในการป้องกันไม่ให้เราหลงเชื่ออะไรง่ายๆ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสุดที่จะหลงเชื่ออะไรได้ง่ายๆ ยิ่งล่าสุดกลยุทธ์การขายไม่ได้อาศัยแค่ดารานักแสดงรีวิวสินค้า แต่ยังใช้นักเรียน เด็กๆ วัยรุ่นด้วยกันมาขายสินค้าให้กับเพื่อนๆ ในโรงเรียน แล้วจะป้องกันปัญหาเหล่านี้อย่างไร…

“โครงการ อย. น้อย” เป็นอีกโครงการที่ตอบโจทย์ดังกล่าว เนื่องจาก อย.มีการดำเนินการโครงการนี้มานานตั้งแต่ปี 2545 เริ่มตั้งแต่นำร่องในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาไม่กี่แห่ง จนกระทั่งปัจจุบันขยายไปยังโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจนมีโรงเรียนเข้าร่วมแล้วทั้งหมด 13,814 แห่งทั่วประเทศ โดยโครงการนี้เน้นให้ความรู้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้พวกเขาได้รู้เท่าทันกับการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้

Advertisement
ภก.วีระชัย นลวชัย

ภก.วีระชัย นลวชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างพื้นที่สาธารณะร่วมกับโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้เกิดการบูรณาการการสื่อสารด้านสุขภาวะในระดับพื้นที่ร่วมกัน ทั้งเด็กนักเรียน และครูอาจารย์ โดยการเชิญชวนเด็กนักเรียนเข้าร่วมโครงการ อย.น้อย ผ่านการจัดตั้งชมรมดูแลผู้บริโภคในโรงเรียน มีครูอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมด้วย และทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ อย.ไปจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัย การให้เด็กนักเรียนเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจสอบหาสารปนเปื้อนโดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น เพื่อให้ได้ทดสอบด้วยตนเอง และทำให้ทราบว่าอาหารที่บริโภคปนเปื้อนหรือไม่ หรือมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมามีเด็กนักเรียนเข้าร่วมแล้วกว่า 300,000-400,000 คนต่อปี แม้การเข้าร่วมจะยังเป็นไปตามความสมัครใจ แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ เพราะเมื่อเด็กกลุ่มหนึ่งในโรงเรียนเริ่มตระหนักถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มีทั้งของจริงของปลอม โดยเฉพาะสินค้าอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ยิ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักที่มีไซบูทรามีน ซึ่งถูกยกระดับขึ้นเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ส่งผลโทษรุนแรงมากขึ้น ก็จะทำให้เด็กเริ่มเข้าใจและบอกต่อเพื่อนๆ ได้ และยังไปบอกต่อกับครอบครัวให้รู้จักการบริโภคที่ปลอดภัยด้วย” ภก.วีระชัยกล่าว

Advertisement

ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคยังบอกว่า จริงๆ ในเรื่องของผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายไม่ได้มีแค่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อย่างลดอ้วน หรือผิวขาว ยังมีอีกมาก ซึ่งทาง อย.ก็มีช่องทางการสื่อสารที่ให้ความรู้มากมาย และล่าสุดยังตั้งทีมสายสืบ อย.น้อยไซเบอร์ ซึ่งเป็นสายสืบรุ่นจิ๋วในโลกออนไลน์ หากพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจริงจะแจ้งมายัง อย.ทันที โดยขณะนี้เริ่มดำเนินการและจะลงไปอบรมให้ความรู้แก่โรงเรียนต่างๆ เบื้องต้นมีโรงเรียนบางประกอกวิทยาคม โรงเรียนราชินีบน และโรงเรียนนาหลวง และจะขยายไปยังโรงเรียนต่างๆ

ซึ่งหากสนใจสมัครเข้าร่วมสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ http://www.oryornoi.com/ หรือเพจเฟซบุ๊ก ชื่อว่า “oryornoi”

ส่วนช่องทางในการให้ความรู้ด้านความปลอดภัยการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งการแจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย อาทิ แอพพลิเคชั่น ชื่อ OryorSmart รวมทั้งสามารถแจ้งผ่านไลน์ @FDAThai

นับเป็นอีกช่องทางของ อย.ในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้แก่เด็กๆ เพื่อป้องกันก่อนเกิดปัญหา…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image