ทะเลกัดเซาะชายฝั่ง บางขุนเทียนหาย2.7พันไร่ สู่ภารกิจด่วนคืนแผ่นดินกรุงเทพฯ

ทุกปีชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนเสียแผ่นดินจากการถูกน้ำทะเลกัดเซาะปีละ 10 เมตร (ม.) ข้อมูลปี 2518-2556 ชายทะเลบางขุนเทียนถูกกัดเซาะไปแล้ว 4.7 กิโลเมตร (กม.) เห็นได้ชัดหลักเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลักที่ 28 แบ่งพื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กทม.กับจังหวัดสมุทรปราการ และหลักที่ 29 แบ่งพื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กทม.กับจังหวัดสมุทรสาครเริ่มหายไปตามแรงคลื่นลมทะเล ทำให้ กทม.ริเริ่มโครงการปลูกป่าชายเลน ตั้งเป้าไว้ 3,100 ไร่ ทดแทนพื้นที่ชายทะเลถูกกัดเซาะ 2,735 ไร่ ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. หวังแก้ไขปัญหาผ่านการทำงานรูปแบบภาคีเครือข่าย โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนและภาคเอกชนช่วยบริจาคเงินซื้อต้นกล้า ไม่ใช้งบประมาณหลวง พร้อมให้เป็นภารกิจด่วนต้องเร่งดำเนินการใน “ยุคอัศวินขี่ม้าขาว”

จุดเริ่มต้นจากปลายปี 2559 ถึงวันนี้ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ที่ผ่านมามีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนร่วมเป็นภาคเครือข่ายและมอบเงินสนับสนุนโครงการเพื่อพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนกว่า 10 ล้านบาท ล่าสุด ยังได้รับบริจาคเงินจากหน่วยงานอีก อาทิ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด รวม 11.6 ล้านบาท พร้อมสนับสนุนกำลังคนช่วยปลูกป่าชายเลนราว 300 คน ที่ผ่านมา กทม.ปักไม้ไผ่ทำหลักกันคลื่น สลับสับหว่างคล้ายฟันปลา เพื่อให้น้ำทะเลพัดตะกอนดินเข้าไปอยู่ในแนวไม้ไผ่ ตามวิธีการที่เรียกว่า “ที-กรอยน์ธรรมชาติ” และแบ่งพื้นที่ภายในสำหรับปลูกป่าชายเลน คาดเดือนมิถุนายนจะปลูกป่าชายเลนได้ตามแนวทั้งหมด ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-กุมภาพันธ์ 2561 กทม.ปลูกต้นกล้าไม่ได้เพราะฝนตกหนักทำให้น้ำทะเลหนุนสูง

Advertisement

นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้มอบเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้วจากการนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้ กทม.เพื่อนำไปปักเป็นแนวกันคลื่น ขณะนี้ กทม.ได้ปักเสาไฟฟ้าดังกล่าวทั้งหมดแล้ว 1,100 ต้น แต่ยังไม่เพียงพอตลอดแนวชายฝั่ง ซึ่ง กฟน.แจ้งว่ายังไม่มีโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเพิ่มเติม กทม.จึงประสานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อขอรับบริจาคเสาไฟฟ้า เบื้องต้นได้รับการยืนยันแล้ว กฟภ.อยู่ระหว่างดำเนินขั้นตอนเพื่อส่งมอบเสาไฟฟ้า 50,000 ต้น จากนั้น กทม.จะจ้างเรือลากขนมายังแนวและปักเสา ซึ่งเสาไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานถึง 20-30 ปี ผลจากการปักเสาไฟฟ้าคือ 1.ช่วยป้องกันคลื่นได้มาก ไม่ต้องซื้อไม้ไผ่มาปลูกตามแนวชายฝั่งเรื่อยๆ ซึ่งก่อนปักเสาไฟฟ้า กทม.ใช้เงินซื้อไม้ไผ่พร้อมค่าจ้างปัก คิดเป็นต้นละ 100 บาท รวม 10 ล้านบาทแล้ว และ 2.ป่าชายเลนที่ปลูกไว้เสียหายน้อยลง เพราะแนวเสาไฟฟ้าช่วยป้องกันคลื่นแรง ต้นกล้าไม่ยืนต้นตาย คาดอีก 5-10 ปี จะได้แผ่นดินคืนและกล้าที่ปลูกไว้จะเจริญเติบโต ช่วยคืนระบบนิเวศให้ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวถึงการจัดตั้ง “มูลนิธิปลูกป่าในใจคน ตามศาสตร์พระราชา” เพื่อรับบริจาคเงิน ว่ามูลนิธิบริหารผ่านรูปแบบคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. ภาคเอกชน ผู้แทนสถาบันการศึกษาและผู้แทนชุมชน โดยไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเบิกเงินได้ เพื่อให้การบริหารโปร่งใส เดิมมีเงินบริจาค 10 กว่าล้าน นำไปใช้จ่ายเป็นค่าแรง แนวไม้ไผ่และพันธุ์กล้า ช่วงแรกโครงการดำเนินการอย่างลำบากเพราะ กทม.ไม่มีประสบการณ์มากนัก ต้นกล้าบางส่วนเสียหาย ทำให้ กทม.มีหนี้ค้างจ่าย 1 ล้านบาทเศษ แต่ตอนนี้ได้รับเงินบริจาคเพิ่มก็จะนำไปหักลบกลบหนี้ส่วนนั้น ส่วนเงินที่เหลือก็จะใช้ดำเนินโครงการต่อไป

Advertisement

“กทม.รับซื้อพันธุ์กล้าจำพวกต้นแสม ต้นโกงกาง ต้นลำพูจากชาวบ้านในพื้นที่ต้นละ 40 บาท โดยพื้นที่ 1 ไร่จะต้องใช้ต้นกล้า 700-800 ต้น 10 ไร่ก็ต้องใช้ราว 8,000 ต้น จนตอนนี้กล้าที่เพาะไว้โตไม่ทัน มีความสูง 60-70 เมตรเท่านั้น หากรับซื้อและนำไปปักดินอาจยืนต้นตาย จึงสั่งซื้อกับเกษตรกรปากน้ำประแส จ.ระยอง อีก 40,000 ต้น ในราคาต้นละ 40 บาทเท่ากัน เพื่อมาทยอยปลูกในช่วงน้ำลด” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวและว่า ส่วนโครงการสร้างคันหินป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเล ลักษณะเดียวกับญี่ปุ่นและสิงคโปร์นั้น เดิม กทม.จะนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ ซึ่งเคยมีผู้ศึกษาไว้ปี 2557 แต่เมื่อทบทวนข้อดีและข้อเสียเป็นอันต้องพับโครงการคันหินไป เพราะต้องใช้งบประมาณก่อสร้างถึง 7,000 ล้านบาท จึงขอเบรกไป เพราะไม่อยากใช้งบหลวงมาก อยากใช้รูปแบบความร่วมมือของเอกชนมากกว่า เพราะทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการรักษาแผ่นดินของกรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากโครงการปลูกป่า ตอนนี้ภาคีเครือข่ายร่วมกับ กทม.ปลูกป่าได้แล้ว 60 กว่าไร่ ต้นกล้าเจริญเติบโต ไม่ยืนต้นตายเพราะมีแนวป้องกันคลื่นที่แข็งแรง ขณะเดียวกันตะกอนดินที่ทะเลพัดมากระทบชายฝั่งทับถมกันทำให้แผ่นดินสูงขึ้นตามแนวชายฝั่งบางส่วนสูงสุดถึง 60 เซนติเมตร (ซม.) และน้อยสุด 30 ซม. ระบบนิเวศเริ่มกลับมา มีสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาตีน กุ้ง ปู หอย เห็นได้มากขึ้น โดยทางเขตอนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาจับสัตว์น้ำเพื่อเป็นอาหารได้ แต่ห้ามใช้เครื่องดักมาตักตวงสัตว์น้ำปริมาณมาก เพราะ กทม.ต้องการให้ชาวบ้านมีวิถีอย่างพอเพียง อย่างบ้านเรือนบางหลังปลูกผักสวนครัวไว้ อาจมาจับสัตว์น้ำไปต้มยำทำแกงตามวิถีได้ นอกจากนี้ ยังเห็นชาวบ้านรักและหวงแหนชายฝั่งมากขึ้น เพราะ กทม.ช่วยสร้างอาชีพกับชุมชน ให้ชาวบ้านช่วยเพาะกล้าไม้และรับซื้อ จ้างปักไม้ไผ่ ทำแพลูกบวบเพื่อกดเสาไฟฟ้า มีรายได้วันละ 400-500 บาท รวมถึงจ้างเด็กและเยาวชนให้มาช่วยปลูกกล้าในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ให้ค่าจ้างวันละ 200-250 บาท โดยไม่หวังผลว่าจะต้องปลูกกล้าให้มากที่สุด แต่หวังสร้างรายได้ สร้างความรักและหวงแหนในถิ่นเกิด และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แทนการเที่ยวเตร็ดเตร่

พร้อมทิ้งท้ายว่า คาดหวังให้ผู้ว่าฯกทม.คนต่อไปสานต่อโครงการจนสำเร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image