‘ภูมิแพ้อาหารแฝง ภัยเงียบที่อย่ามองข้าม’ เปลี่ยนอาหารสุขภาพเป็นตัวร้าย

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่เวทีกลาง เพลนารีฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานเฮลท์แคร์ 2018 “สายตาดีมีสุข” มีการจัดเสวนาในช่วง Healthy Trick: Hidden food Sensitives “ภูมิแพ้อาหารแฝง ภัยเงียบที่คุณมองข้าม” โดย นพ.ชวภณ กิจหิรัญกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ชะลอวัย ฟื้นฟูสุขภาพและภูมิแพ้อาหาร ศูนย์การแพทย์บูรณาการโนวาวิด้า

นพ.ชวภณกล่าวว่า ภูมิแพ้อาหารเป็นเรื่องที่หลายคนพบเจอในชีวิตประจำวันค่อนข้างบ่อย และมากกว่าครึ่งของคนไข้ที่มารักษาภูมิแพ้อาหาร มีอาการภูมิแพ้อาหารแฝง ซึ่งผู้คนส่วนมากมักคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นปัญหาของเด็กๆ เท่านั้น และไม่คิดว่าการแพ้อาหารเป็นปัญหาสำคัญ

“หลายคนมักจะนึกถึงภาวะที่เกิดปฏิกิริยาผิดปกติของร่างกายที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน ข้อมูลล่าสุดราว 6.25% ของประชากรไทย มีปัญหาเรื่องการแพ้อาหาร โดยภูมิแพ้อาหาร แบ่งเป็น 3 แบบ คือ ภูมิแพ้อาหารแฝง, ภูมิแพ้อาหารเฉียบพลัน และปฏิกิริยาที่เกิดจากอาหาร โดยไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร

“การแพ้แบบเฉียบพลันจะค่อนข้างอันตราย ยกตัวอย่างการรับประทานถั่ว และมีอาการแพ้ เซลล์เม็ดเลือดขาวกระตุ้นให้สร้างสารฮีสตามีนซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ จึงทำให้มีอาการต่างๆ ทางผิวหนัง หรือทางเดินอาหาร และอันตรายมากๆ ในคนไข้ที่มีอาการในเรื่องทางเดินหายใจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต”

Advertisement

นพ.ชวภณกล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่หลายคนเกิดอาการแพ้ มักจะเป็นอาหารซ้ำๆ โดยมีสูตรง่ายๆ 8 ตัวสำคัญ ซึ่งคุ้นเคยกันดี อย่าง ไข่ ปลา นม ถั่วลิสง อาหารทะเล นมถั่วเหลือง ถั่วต่างๆ และแป้งสาลี ที่หลายคนแพ้บ่อย เมื่อแพ้แล้วจะเกิดอาการที่รุนแรงถึงชีวิต ควรที่จะหลีกเลี่ยง โดยวิธีการรักษาอาจต้องพกเข็มอะดรีนาลีนติดตัว เพื่อรักษาอาการเหล่านี้ได้ ส่วนเรื่องภูมิแพ้อาหารแอบแฝงมักไม่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่และอาการจะหายไปเมื่ออายุประมาณอายุ 14-18 ปี แต่จะมีเพียงบางคนที่มีอาการแพ้ตลอดชีวิต

“การแพ้อาหารแอบแฝง คือการกินอาหารแล้วเกิดปฏิกิริยาต่อร่างกาย โดยเฉพาะการก่อให้เกิดการอักเสบต่อร่างกายทั้งระบบ แต่อาการจะเบากว่าการแพ้อาหารเฉียบพลัน การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงสามารถสังเกตอาการด้วยตนเองได้ แต่ในบางครั้งที่ไม่แน่ใจ แนะนำให้ทำการทดสอบที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะบางทีสิ่งที่รับประทานเข้าไปก็ไม่รู้เลยว่าบางครั้งอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือคิดว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ก็อาจจะเป็นตัวร้ายที่ทำร้ายร่างกายเรา ทำให้ไปกระตุ้นสารก่อภูมิแพ้ก็เป็นได้” นพ.ชวภณกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image