‘จักษุแพทย์’ เตือนยาหยอดตาเย็นซ่าของญี่ปุ่นอันตราย แนะวิธีดูแลที่ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 1 กรฎาคม นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระจกตา ต้อกระจก และการผ่าตัดแก้ไขสายตา กลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี กล่าวถึงเทคนิคการปกป้องดวงตา แก้ไขปัญหาก่อนสาย ในเวที เฮลท์แคร์ 2018 สายตาดีมีสุข ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ภาพรวมสุขภาพตาคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะเข้าถึงการรักษาพยาบาล อัตราตาบอดเมื่อปี 2014 คิดเป็นร้อยละ 0.6 หรือราว 400,000 คน แม้อัตราจะน้อยลง แต่มีช่องทางทำให้สถิติดีขึ้นได้ ด้วยการป้องกันและรักษาให้หาย โดยเฉพาะสาเหตุของการตาบอดที่พบว่าเกิดขึ้นจากต้อกระจกร้อยละ 70

“ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ใช้สายตามากขึ้น ทั้งการใช้สมาร์ทโฟนและใช้คอมพิวเตอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ตามีอาการล้า แสบ ปวดเมื่อยตา ปวดหัวร้าวไปจนถึงคอ เกิดจากการจ้องหน้าจอมากไป กระพริบตาน้อยลง กล้ามเนื้อตาทำงานหนักเมื่อต้องจ้องหน้าจอใกล้ๆ แนะนำให้ 1.ลดการใช้สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะเด็กจะยิ่งกระตุ้นให้สายตาสั้น 2.หากเลี่ยงไม่ได้ให้พักสายตาและกระพริบตาเป็นระยะ 3.ใช้กฎ 20:20:20 คือ ทุก 20 นาที ให้กระพริบตา 20 วินาที ลดการเพ่งสายตา 4.ใช้แว่นตาอ่านหนังสือ พยายามไม่ให้มีแสงสะท้อนจากหน้าจอกระทบต่อดวงตาโดยตรง รวมถึงใช้น้ำเทียมร่วม อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง ส่วนยาชนิดอื่นแนะนำให้จักษุแพทย์เป็นผู้จัดให้” นพ.ธีรวีร์ กล่าว
สำหรับวิตามินหยอดตาจากต่างประเทศอ้างอิงสรรพคุณช่วยให้ดวงตาสดใสนั้น นพ.ธีรวีร์ กล่าวว่า ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะมีส่วนประกอบอื่น นอกเหนือจากน้ำตาเทียม เช่น ยาใช้รักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง สารเย็นซ่าๆ ซึ่งเป็นจุดขายทางการตลาด แต่ไม่อ่อนโยนต่อดวงตา ปัจจุบันมีเฉพาะประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่อนุญาตให้ใช้ แต่บางประเทศไม่ให้ใช้

“เทคนิคเพื่อสุขภาพตาดีขึ้นระยะยาว คือ ป้องกันดวงตาจากแสงแดด ใส่แว่นป้องกันอุบัติเหตุหากทำกิจกรรมเสี่ยงต่อดวงตา ตรวจสุขภาพตาเป็นระยะอย่างน้อย 5 ปีต่อครั้ง ส่วนอายุ 40 ปีควรตรวจปีละ 1 ครั้ง ส่วนเด็กเล็กแนะนำตรวจตั้งแต่วัยอนุบาล ควบคุมโรคประจำตัว ไม่ขยี้ตา โดยเฉพาะการนวดตัวเป็นความเชื่อที่ผิดทำให้จอตาเคลื่อนและบางลง กินอาหารครบ 5 หมู่ หมั่นสังเกตดวงตาทีละข้าง ใช้ยาหยอดตาอย่างเหมาะสม ไม่ควรซื้อยาใช้เอง มือไม่สะอาดห้ามสัมผัสดวงตา แนะนำให้ใส่คอนแท็กเลนส์แบบใช้วันเดียว” นพ.ธีรวีร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยาบำรุง อาหารเสริม และการนวดตา ปัจจุบันได้รับการรับรองทางการแพทย์หรือไม่ นพ.ธีรวีร์ กล่าวว่า ยาเสริมรักษาโรคได้ครอบจักรวาลส่วนใหญ่ไม่จริง ส่วนอาหารเสริมของดวงตามี 2 อย่าง คือ การกินวิตามินที่เหมาะสม โดยจักษุแพทย์เป็นผู้จัดให้ และการลดอาการตาแห้งโดยกินอาหารที่มีโอเมก้า 3 จากปลา เช่น ปลาสวาย ปลาแซลมอน เมล็ดธัญพืช เป็นต้น ส่วนมะรุมสกัดรักษาโรคตานั้น ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันทางการแพทย์ว่ารักษาโรคเกาต์และโรคตาได้ รวมถึงน้ำเกลือไม่แนะนำให้ใช้ล้างตาสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะจะล้างของดีออกไปด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image