จุฬา ยูดีซี ต้นแบบ ‘บ้านปลอดภัย’ เพื่อทุกคน

ประเทศไทยกำลังคืบคลานเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ ทำให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยยาวนานขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดของเด็ก คงอีกไม่ช้าไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ย้อนกลับมายังสิ่งอำนวยความสะดวกรอบตัว เมื่อเหลียวหน้ามองหลังการออกแบบและปรับสภาพแวดล้อมยังไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น ตั้งคำถามทุกวันนี้สิ่งของเครื่องใช้ถูกออกแบบให้เกิดการใช้งานอย่างเท่าเทียมหรือไม่ คำตอบคงมีอยู่ในใจของทุกคน ดังนั้น “บ้านของเรา” ควรเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อปลายทางให้ทุกคนในบ้านอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและมีความสุข หรือเรียกว่า หลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design)

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงลงนามเอ็มโอยูร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และเครือข่ายช่วยกันผลักดัน “ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน” หรือ Universal Design Center (UDC) เพื่อรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม ให้คำปรึกษาในการออกแบบก่อสร้างและปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับทุกวัย และธนาคารอุปกรณ์ที่รวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับผู้สูงวัยและคนพิการ

ขณะนี้ จุฬาฯได้ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chula UDC แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว นำร่องศูนย์ของภูมิภาคที่เปิดครบทั้ง 5 แห่งภายในปีนี้

Advertisement

รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์ฯกล่าวว่า จุฬา ยูดีซี ตั้งอยู่ชั้น 1 อาคารสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซอย 42 เป็นอาคารของจุฬาฯ อดีตเป็นโรงภาพยนตร์สามย่าน ต่อมาปรับปรุงเป็นสถานที่ติวเรียนพิเศษ แต่เด็กได้ย้ายไปติวข้างนอก จึงขอใช้อาคารชั่วคราวเป็นอาคารสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยคาดหวังให้การใช้อาคารเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน กระทั่งพัฒนาเป็นศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน นอกเหนือจากเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลวิจัย ยังเป็นธนาคารอุปกรณ์สำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการให้เข้ามายืมใช้อุปกรณ์ได้ รวมถึงยังจะขอรับบริจาคอุปกรณ์ทั้งใหม่และที่ไม่ใช้แล้ว โดยศูนย์จุฬาฯจะเป็นศูนย์ประสานงานกลางและศูนย์หลักประจำ กทม. ปริมณฑล ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.00 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ต้องนัดหมายล่วงหน้า สำหรับไฮไลต์ภายในศูนย์ฯ คือห้องตัวอย่างการจัดพื้นที่และแสดงอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ

รศ.พรรณชลัท สุริโยธิน รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะสถาปัตย์เริ่มจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการในคณะสถาปัตย์ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลวิจัยและองค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมานานกว่า 10 ปีแล้ว กระทั่ง ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านงานวิจัย ร่วมลงนามเอ็มโอยูกับ สสส.และสนับสนุนงานวิจัยโครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับผู้สูงวัย จึงได้สนับสนุนทั้งงานวิจัยตลอดจนบุคลากรและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เพราะมองว่าจุฬา ยูดีซี จะเป็นตัวช่วยสำคัญรับมือกับสังคมสูงวัยในอนาคต

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2557 พบผู้สูงอายุในไทยเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มเกือบ 1,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน และ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุหกล้มกระดูกหักไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และผลสำรวจสุขภาพพบร้อยละ 31.2 หกล้มอยู่ภายในบ้าน สาเหตุแรกมาจากลื่นหกล้ม สะดุดสิ่งของ เสียการทรงตัวและพื้นที่ต่างระดับ ล้วนเป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ โดยทุกคนควรจะได้รับคำแนะนำเพื่อประยุกต์หลักวิชาการในการปรับปรุงบ้าน จึงเกิดศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค นอกจากนี้ สสส.ยังสนับสนุน
การเสริมศักยภาพของช่างชุมชนและการสื่อสารเรื่องการออกแบบเพื่อทุกคน โดยส่งเสริมให้ภาคชุมชนมีความเข้มแข็งให้ภาคท้องถิ่นร่วมด้วยช่วยกัน ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร สสส.สนับสนุนให้เกิดต้นแบบเรื่องที่อยู่อาศัยแนวตั้ง ตามการปรับตัวของคนเมือง บริเวณซอยไผ่สิงโต เขตคลองเตย โดยเปิดให้เยี่ยมชมเพื่อนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตจริง

ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า การทำงานด้านสังคมผู้สูงอายุทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน คำจำกัดความของผู้สูงอายุตามกฎหมายจะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ตอนนี้จะรู้สึกว่าอายุ 60 ปียังไม่แก่ หลายประเทศจึงให้ผู้มีอายุ 65, 67, 70 ปีขึ้นไปถึงจะเรียกผู้สูงอายุ ทุกวันนี้สิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุต้องการ คือการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข คือจิตใจต้องดีและมีสุขภาพแข็งแรง โดยสิ่งที่รัฐบาลพอจะให้ได้ในฐานะที่ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก คือการจัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประมาณ 600-1,000 บาทต่อเดือน เบี้ยเลี้ยงไม่ได้ให้
ผู้สูงอายุต้องอยู่รอด แต่เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในสังคมไทย คือคนไทยไม่รู้จักออม ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสื่อสารให้รู้จักการออมตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยการบังคับให้ออม ทั้งนี้ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้แก้ไขแผนผู้สูงอายุระยะ 20 ปีให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เพราะฉบับเดิมเกิดขึ้นเมื่อปี 2525 ทางกรมกิจการผู้สูงอายุจึงอยู่ระหว่างร่างแผนทดแทนฉบับเก่า

ผศ.กิตติอร ศิริสุข อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายในจุฬาฯ กล่าวถึงการออกแบบให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไป มีสถิติหกล้มทุกปี
โดยปัจจัยประกอบด้วย 5 อย่าง คือ สายตาเสื่อม เป็นโรคต้อ, ยา, กล้ามเนื้ออ่อนแรงและเคลื่อนไหวน้อย, โรคเรื้อรัง และสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักหกล้มเพราะสะดุดสิ่งกีดขวางถึงร้อยละ 33.8 ลื่น 31.8 หน้ามืด 14.9 พื้นที่ต่างระดับและตกบันได 2.9 และอื่นๆ โดยสถานที่หกล้มคิดเป็นร้อยละ 59 เกิดขึ้นนอกตัวบ้านและร้อยละ 41 ภายในตัวบ้าน โดยวิธีการป้องกัน คือ 1.ทุบธรณีประตูและจัดช่องทางเดินกว้าง 0.90-1.50 เมตร เพื่อป้องกันการสะดุดสิ่งกีดขวาง 2.ใช้น้ำยากันลื่นและเปลี่ยนพื้นบ้านบางส่วนเป็นพื้นหยาบ ป้องกันการลื่น 3.ปรับพื้นให้เรียบ แนะนำให้ทำทางลาดขนาด 1:12 ลูกตั้ง 15 เซนติเมตร (ซม.) ลูกนอน 15 ซม. ป้องกันพื้นต่างระดับ ชั้นและบันได และ 4.เพิ่มแสงสว่างและแสงธรรมชาติให้มองเห็นได้ชัด ไม่แนะนำไฟส้ม เหลือง หรือไฟสลัวเด็ดขาด โดยทุกบริเวณแนะนำให้เพิ่มราวจับ

“ยกตัวอย่างห้องรับแขกหรือห้องอาหาร ต้องจัดระเบียบเฟอร์นิเจอร์เพื่อการเคลื่อนที่ที่ดี ห้ามใช้เก้าอี้พลาสติกและเก้าอี้มีล้อ ส่วนห้องครัว อุปกรณ์ใช้บ่อยควรเอาไว้ใกล้มือ ระวังสายไฟ พื้นที่ไม่ควรขัดมัน ภายในห้องครัวควรมีตู้หรือชั้น เป็นบานเลื่อนมีกระจกใสเห็นสิ่งของภายในได้ง่าย โดยที่ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องเอื้อม ต่อมาห้องน้ำให้ติดตั้งราวจับและแผ่นกันลื่น เช่นเดียวกับบันไดและทางเดินให้ติดตั้งราวจับ แผ่นกันลื่น เพิ่มแสงส่องสว่าง แถบสีตัดกัน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงต้องระวังการพันแข้งขาขณะเดินเหิน” ผศ.กิตติอร บอก

นึกไม่ออกว่าบ้านเพื่อทุกคนมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่อยากเชิญชวนทุกวัยไปเรียนรู้ที่จุฬา ยูดีซี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image