สธ.ชม ‘โค้ช’ สอนเด็ก ‘นั่งสมาธิ’ รอความช่วยเหลือ เผยช่วยได้ทั้งสติ ฝึกความอดทน

หลังจากมีการเปิดเผยว่า นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก อายุ 25 ปี โค้ชของทีมหมูป่าอะคาเดมี่และหัวหน้าทีมเด็กทั้ง 12 คน ที่ติดภายในถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้สอนน้องๆ ทั้ง 12 คน นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อให้เด็กๆ มีสตินั้น

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะจิตแพทย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การนั่งสมาธิถือเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดอาการต่างๆ รวมทั้งทำให้มีสติ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับเยอะมาก โดยชัดเจนว่าการฝึกสมาธิ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย จิตใจ และสมอง ซึ่งทำให้สมองส่วนทำงานด้านอารมณ์ลดลง และทำให้สมองส่วนเหตุและผลมีมากขึ้น เนื่องจากทำให้มีสตินั่นเอง ส่วนเรื่องการควบคุมความหิว อาจเป็นผลมาจากการฝึกสมาธิทำให้มีความอดทนมากขึ้น ลดความฟุ้งซ่าน ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าการติดอยู่ในถ้ำหรือในเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ หากช่วงระยะแรกที่เกิดวิกฤต จะเป็นภาวะช็อก ตึงตัวทันทีว่าจะเกิดอันตราย มีความตื่นตระหนก กระวนกระวาย ฟุ้งซ่าน ว่าติดอยู่ในภาวะวิกฤต ต่อมาในระยะ 3-4 วัน จะยิ่งรู้สึกเกิดความกังวลว่าจะออกไปได้หรือไม่ได้ มีความคิดว่าจะหมดหวัง หรือมีหวัง เพราะเริ่มอยู่นานขึ้น ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลียลง

“กรณีนี้ต้องชื่นชมโค้ชมาก เนื่องจากมีประสบการณ์ที่ดี เป็นมืออาชีพที่สามารถช่วยน้องๆ และยังมีประสบการณ์ที่ดีในเรื่องการฝึกสมาธิ และยังนำฝึกสมาธิ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมีการฝึกสมาธิ ก็จะทำให้เกิดสติ และร่างกายอดทนมากขึ้น ส่วนที่ว่าควบคุมความหิวได้นั้น อาจเป็นเพราะร่างกายไม่ได้ขยับมาก ไม่ได้ใช้พลังงาน ร่วมกับมีความอดทนเพิ่มขึ้น เพราะปกติคนนั่งสมาธิ นอกจากมีสติแล้วก็จะเพิ่มเรื่องความอดทนมากกว่าคนอื่นๆ” พญ.พรรณพิมลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรนั่งสมาธิอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจตนเอง หรือสามารถควบคุมอารมณ์ได้ พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ปกติการนั่งสมาธิก็คล้ายๆ การออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธินานๆ ก็ได้ แค่เพียงวันละ 5-10 นาที ช่วงเวลไหนก็ได้ก็ก่อประโยชน์ทั้งนั้น จริงๆ ที่แนะนำคือ เวลาที่เหมาะสมคือ เวลาที่เรามีความพร้อม หรือจิตใจสงบ หรือช่วงก่อนนอนก็ถือว่าเหมาะสม เพราะจะช่วยเสริมให้เกิดการนอนอย่างเต็มที่ได้ อย่างไรก็ตาม การทำสมาธิมากไปก็เป็นผลลบได้ หรือใช้รูปแบบแข็งตัวเกินไป การฝึกก็มีหลายระดับ จริงๆ เราควรเรียนรู้ระดับแบบผ่อนคลายความเครียดก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

Advertisement

เมื่อถามว่าจะมีการดูแลสภาพจิตใจของโค้ชอย่างไร เพราะหลายคนกังวลว่า จะเกิดการโทษตนเอง พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า จริงๆ ต้องดูแลสภาพจิตใจทุกคน แต่ละคนก็จะแตกต่างกัน แต่ในส่วนของโค้ชนั้น แน่นอนว่า อาจเกิดความรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตัวเองต้องรับผิดชอบ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น โค้ชมีความรับผิดชอบ ดูแลเด็กๆ ดีมาก และก็ไม่อยากให้ไปคิดถึงว่า ทำไมเหตุการณ์วันนั้น ไม่ทำแบบนี้ ไม่ทำแบบนั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่มีใครอยากให้เกิด เราควรมองเรื่องนี้เป็นบทเรียนและก้าวไปข้างหน้าดีกว่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image