สธ.ชวน ‘ดาราคนดัง’ รีวิวไม่สูบบุหรี่ แทนขายอาหารเสริม หวังปลูกฝังค่านิยมใหม่  

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)   แถลงข่าวภายในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 เรื่อง “บุหรี่ทำร้ายหัวใจและหลอดเลือดสมอง” ว่า บุหรี่ก่อให้เกิดพิษภัยต่อสุขภาพจำนวนมาก ทั้งการเกิดมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง รวมถึงทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง ถ้าสามารถควบคุมการสูบบุหรี่ให้ลดลงได้ ก็จะลดการเสียชีวิตของคนไทยลงไปได้มาก ซึ่งแนวโน้มการบริโภคยาสูบของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา จากปี 2534 มีจำนวน 12.26 ล้านคน หรือร้อยละ 32 ลดเหลือ 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 19.1 ในปี 2560 โดยการลดอัตราการสูบบุหรี่นั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และต้องใช้หลายมาตรการ ทั้งมาตรการทางกฎหมาย เช่น การออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่มีการควบคุมไม่ให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย ควบคุมการโฆษณา สถานที่ห้ามสูบต่างๆ เป็นต้น มาตรการให้ความรู้ให้คนที่ไม่สูบบุหรี่รู้พิษภัยและไม่สูบบุหรี่

นพ.โอภาสกล่าวว่า มาตรการทางสังคม เช่น การควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสูบบุหรี่ การปรับค่านิยมทัศนคติว่า การสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องเท่แบบสมัย 30 ปีก่อน อย่างภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีพระเอกนางเอกสูบบุหรี่ ถือเป็นสิ่งแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้น ตรงนี้ก็ต้องลดลง ซึ่งตนมองว่าศิลปิน ดารานักร้อง และนักกีฬา ถือเป็นคนที่สังคมและเยาวชนเชื่อถือ เพราะหากไม่เชื่อถือดาราคงไม่สามารถรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพแล้วมีคนเชื่อจำนวนมาก จึงมองว่าหากให้ศิลปินดารามารีวิวเรื่องการไม่สูบบุหรี่ ก็น่าจะช่วยปรับค่านิยมเรื่องบุหรี่ในหมู่เยาวชนได้ หรือการทำให้เป็นตัวอย่าง เช่น ขณะนี้มีการเดินหน้าเรื่องธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อให้สุขภาพพระสงฆ์ดีขึ้น และพระสงฆ์เป็นผู้นำในการรณรงค์เรื่อสุขภาพ ซึ่งเรื่องบุหรี่ก็สามารถทำได้ โดยชาวบ้านเลิกการถวายบุหรี่แก่พระสงฆ์ เพราะไม่ได้บุญ แต่ได้บาป และเมื่อพระสงฆ์ไม่สูบบุหรี่ก็จะเป็นตัวอย่างแก่สังคมและรณรงค์ให้คนไม่สูบบุหรี่ได้

“นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการเรื่องการจัดการ ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการยาสูบระดับจังหวัด ในการช่วยบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่ด้วย ซึ่งจังหวัดที่ดำเนินการได้ดี เช่น แม่ฮ่องสอน ที่เคยติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูง แต่การดำเนินการในระดับจังหวัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลหลุดจาก 10 อันดับสูบบุหรี่สูงสุดของประเทศไทยได้ เป็นต้น” รองปลัด สธ.กล่าว

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แม้สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่สถานการณ์ควันบุหรี่มือสองยังน่าห่วง มีถึงร้อยละ 33.2 ยังมีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ พบเห็นที่ตลาดสูงสุดร้อยละ 61.8 รองลงมาคือ ร้านอาหาร ร้อยละ 37.7 และสถานีขนส่ง ร้อยละ 25.5 โดย 2 ใน 5 ของผู้สูบบุหรี่มีการสูบบุหรี่ในบ้าน ทำให้มีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงถึง 17.3 ล้านคน เมื่อพ่อแม่สูบจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบ สสส.จึงสนับสนุนการลดละเลิก อาทิ โครงการต้นแบบบ้านปลอดบุหรี่ อสม.เลิกบุหรี่ 3 ล้าน 3 ปี เป็นต้น

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image