รองอธิบดีป่าไม้ แฉเอง เครือข่ายเรือฟีนิกซ์ รุกป่าสงวนด้วย ซัดปลอมเอกสารหลอกขายต่างชาติเพียบ!!

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์เรือนำเที่ยวฟีนิกซ์ล่มที่ จ.ภูเก็ต ว่ากรมป่าไม้ได้ประสานข้อมูลกับทางตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า บริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเรือนำเที่ยวฟีนิกซ์ ยังมีกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเจ้าของเรือฟีนิกซ์อีก จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เครือข่ายบริษัทดังกล่าวไม่ได้เปิดเป็นบริษัทนำเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ยังก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับบริการนักท่องเที่ยวชาวจีนแบบผิดกฎหมาย หรือทัวร์ศูนย์เหรียญ ในพื้นที่ป่า ซึ่งทางกรมป่าไม้ได้ดำเนินคดีแจ้งข้อกล่าวหาไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ทั้งนี้ กรมป่าไม้กำลังศึกษาว่าจะใช้มาตรา 25 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ทำการรื้อถอนท่าเรือดังกล่าวได้เลยหรือไม่

“นอกจากนี้ ยังพบว่าเครือข่ายเจ้าของเรือฟีนิกซ์ยังมีการนำเอกสารที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติใน จ.ภูเก็ต นำมาแอบอ้างหลอกลวงขายให้ชาวต่างชาติ พบผู้เสียหายชาวต่างชาติจำนวนมาก โดยซึ่งกรมป่าไม้จะตรวจสอบว่ามีบริษัทลูกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแม่อีกหรือไม่ โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ” นายอรรถพลกล่าว

นายอรรถพลกล่าวว่า สำหรับเครือข่ายบริษัทดังกล่าวเป็นของกลุ่มนายทุนชาวจีนและนอมินีขาวไทยนั้น ชุดปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ทส.เคยบูรณาการร่วมกับกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวมาแล้วอย่างต่อเนื่องดำเนินคดีไปแล้ว 4 คดีในท้องที่ จ.พังงา ตั้งแต่ในช่วงเดือน เมษายนที่ผ่านมา ได้แก่ 1.บริษัท หงษ์ฟ้าฮอลิเดย์ จำกัด มีการครอบครองดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว เนื้อที่ 3-2-47 ไร่ ซึ่งเนื้อที่ดำเนินการเกินจากพื้นที่ที่เช่า ซึ่งมีเอกสารเป็นเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. จำนวนเนื้อที่ 0-1-86 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนที่เกินมีการปักหลักคอนกรีต และหลักลำต้นมะพร้าว มีการถมพื้นที่เพื่อป้องกันตลิ่งพัง มีการเทพื้นคอนกรีตไปยังท่าเรือ ลักษณะเป็นการปลูกสร้างสิ่งรุกล้ำลำน้ำ จึงได้ร่วมกับสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพังงา ทำการตรวจยึดแจ้งความดำเนินคดี ตาม ปจว.ข้อ 9 เวลา 17.30 น. วันที่ 10 เมษายน 2561 คดีอาญาที่ 141/2561

รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวต่อว่า 2.บริษัท แฟนแทซทิค สิมิลัน ทราเวล จำกัด มีการครอบครองดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว เนื้อที่ 5-0-48 ไร่ โดยมีนายอภิชา เกตุสะอาด เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งพื้นที่ที่ดำเนินการไม่มีเอกสารสิทธิทางที่ดิน มีเพียงแต่หลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ สภาพพื้นที่ตรวจพบอาคาร สิ่งปลูกสร้าง โดยไม่ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างจากทางเทศบาล จึงทำการตรวจยึดแจ้งความดำเนินคดี ตาม ปจว.ข้อ 10 วันที่ 10 เมษายน 2561 คดีอาญาที่ 142/2561 3.บริษัท PKRC มารีน จำกัด มีเช่าพื้นที่ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว เนื้อที่ 5-3-19 ไร่ โดยเช่าพื้นที่มาจากนางสาวเยาวภักตร์ ฮ่อบุตร ซึ่งบริษัท พีเคอาร์ซี มารีน จำกัด เช่าเฉพาะในวันที่ใช้พื้นที่เท่านั้น ที่ดินดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิทางที่ดิน มีเพียงใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.11) สภาพพื้นที่เดิมเป็นเตาเผาถ่าน มีการปลูกมะพร้าวมาประมาณ 60-70 ปี และตรวจพบอาคาร สิ่งปลูกสร้าง โดยไม่ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างจากทางเทศบาล จึงทำการตรวจยึดแจ้งความดำเนินคดี ตาม ปจว.ข้อ 11 วันที่ 10 เมษายน 2561 คดีอาญาที่ 143/2561 และ 4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟันนี่เดย์ ซาฟารี จำกัด มีการครอบครองดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวเนื้อที่ 4-0-56 ไร่ โดยมีนายวิวัฒน์ ชดช้อย เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งพื้นที่ที่ดำเนินการไม่มีเอกสารสิทธิ์ทางที่ดิน มีเพียงแต่หลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ สภาพพื้นที่เดิมเป็นเตาเผาถ่าน ต่อมาได้ทำสวนมะพร้าว สวนยางพารา ประกอบกับทำกิจการท่องเที่ยว และตรวจพบอาคารสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างจากทางเทศบาล จึงทำการตรวจยึดแจ้งความดำเนินคดี ตาม ปจว.ข้อ 15 เวลา 21.45 น. วันที่ 10 เมษายน 2561 คดีอาญาที่ 144/2561

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image