สทนช.-มข.รุกประเมินบริหาร ‘ทรัพยากรน้ำ’ ทั้งระบบ มุ่งแก้วิกฤตพื้นที่อีสาน

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในพิธีเปิดการประชุมแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น ว่า ขณะนี้ สทนช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เร่งดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้ได้ข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางปรับปรุงการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานด้านน้ำของประเทศซึ่งมีอยู่กว่า 30 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์น้ำด้านต่างๆ ได้ตรงกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง

นายสำเริง กล่าวว่า ที่ผ่านมา จะเห็นว่าแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามทุ่มเทกำลัง ความสามารถ รวมทั้งงบประมาณอย่างเต็มที่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงคือภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน และเกษตรกรยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และการเร่งรัดพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปัญหาทรัพยากรน้ำซับซ้อนมากขึ้น และมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างออกไปในทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และคุณภาพน้ำ จากจุดนี้ สทนช.เห็นว่าข้อมูลเชิงพื้นที่ เป็นคำตอบสำคัญที่จะนำไปสู่การวางกรอบแนวทางเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

“โครงการดังกล่าวเป็นรูปแบบการศึกษาทบทวน วิเคราะห์ข้อมูลจากอดีตจนถึงปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยหน่วยงานรับผิดชอบต่างๆ และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานระยะที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานและแสวงหาแนวทางในการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยกำหนดกรอบประเด็นหลักในการศึกษาไว้ 4 มิติ คือ ด้านปริมาณน้ำ ด้านคุณภาพน้ำ ด้านองค์กรที่ครอบคลุมการทำงานของหน่วยงานปฏิบัติการ และคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” นายสำเริง กล่าวและว่าจะจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชุมปรึกษาหารือกับผู้แทนหน่วยงานและคณะกรรมการลุ่มน้ำ 11  ครั้ง รวมทั้งสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ครอบคลุมการดำเนินโครงการทุกลักษณะงานใน 3 ลุ่มน้ำ โดยได้พัฒนาแบบสอบถามเพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง

Advertisement

นายสำเริง กล่าวว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการลุ่มน้ำและกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ นอกจากนั้น จะทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา แหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน ความต้องการใช้น้ำ คุณภาพน้ำ สภาพเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำระบบแอพพลิเคชั่น เพื่อนำเสนอข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยองค์กรรับผิดชอบให้แม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image