กรมป่าไม้ขยายป่าชุมชนอีก 21,850 หมู่บ้าน 19 ล้านไร่ ลดความขัดแย้ง

วันที่ 19 กรกฎาคม น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ภายหลังทส.พยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ป่าชุมชน กระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม จนสำเร็จ ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายก่อนประกาศบังคับใช้ ประกอบกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไว้ชัดเจน ตามข้อ 9 คือ การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยระยะเฉพาะหน้าให้เร่งขยายป่าชุมชน พร้อมสนับสนุนงบประมาณปี 2561 เพื่อจัดตั้งป่าชุมชน 4,000 หมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายจัดตั้งป่าชุมชนให้ครบ 21,850 หมู่บ้าน หรือพื้นที่ประมาณ 19.1 ล้านไร่ให้ได้ ภายในปี 2563 ปัจจุบันผลดำเนินการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 11,114 หมู่บ้านหรือพื้นที่ 6.08 ไร่แล้ว ดังนั้น กรมป่าไม้ จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน แก่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยจัดประชุมเชิงปฎิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องป่าชุมชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เข้ามา “ร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้าง กติกาชุมชน” พร้อมเปิดโอกาสให้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุม

น.ส.สุทธิลักษณ์ กล่าวอีกว่า สาระสำคัญของพ.ร.บ.ป่าชุมชน คือ มีกฎหมายเฉพาะทำให้คล่องตัวในการจัดการป่าชุมชน สามารถขยายการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่ป่าร้อยละ 40 คณะกรรมการป่าชุมชนสามารถดูแลป่าชุมชนโดยมีกฎหมายรองรับ เพิ่มรายได้ครัวเรือน ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และประชาชนที่ดูแลป่าได้รับสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากป่าตามกฎหมาย ซึ่งปัญหาการดำเนินงานป่าชุมชนปัจจุบัน จะพบว่าด้านการจัดตั้งป่าชุมชนนั้น ผู้ได้รับอนุญาตโครงการป่าชุมชนตามกฎหมาย คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนคณะกรรมการป่าชุมชนเป็นผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนโครงการป่าชุมชนเองมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดต่ออายุโครงการ ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการจัดตั้งป่าชุมชน ส่วนด้านบริหารจัดการป่าชุมชนเองพบไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้ประชาชนที่ร่วมดูแลป่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ป่าได้ เกิดความแคลงใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ ท้ายสุดขาดแรงจูงใจในการให้ความร่วมมือกับรัฐ

“ขณะที่ การใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่นั้นมีข้อจำกัดหลายประการและไม่ได้เปิดโอกาสในเรื่องสิทธิที่เป็นธรรมในการบริหารจัดการป่า เช่น สิทธิการใช้และพัฒนาแหล่งน้ำจากป่าชุมชนเพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมถึง การตีความของกฎหมายป่าไม้นั้นมีข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชน จึงคาดหวังให้การประชุมครั้งนี้สร้างความรับรู้และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด” น.ส.สุทธิลักษณ์ กล่าว.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image