ภาคธุรกิจขานรับ แบน ‘ไขมันทรานส์’

กรณีกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันทรานส์ เป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย รวมถึงการผลิตสำหรับส่งออก หลังจากได้พิสูจน์เป็นที่ชัดเจนว่า ไขมันดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อโรคเกี่ยวกับระบบเลือดและหัวใจในมนุษย์

ไขมันทรานส์สามารถพบได้ในอาหารและขนมทั่วไปเช่น โดนัท คุ้กกี้ เค้ก อาหารฟาสต์ฟู้ด รวมถึงผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น นม เนย ชีส

 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท

กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมหารือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารในขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีขึ้น ในวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  เพื่อให้ความรู้ต่อผู้ประกอบการในกระบวนการผลิต โดยเสาะหาส่วนผสมอื่นมาทดแทนการใช้ไขมันทรานส์ และสามารถปรับตัวได้ทันตามกำหนดก่อนที่จะมีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงฉบับดังกล่าวในอีก 6 เดือนข้างหน้า

Advertisement

ที่สำคัญคือ เป็นการหารือเพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภคไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกมากเกินไป

จากรายงานของศูนย์เบาหวานศิริราช ระบุว่า ไขมันทรานส์คือ ไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งเกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนเพื่อแปรสภาพน้ำมันที่เป็นของเหลวให้กลายเป็นของกึ่งเหลวที่มีรสชาติใกล้เคียงกับไขมันสัตว์ กระบวนการนี้ทำให้ยืดอายุการเก็บรักษาได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ระดับคอเลสตรอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อระดับคอเลสตรอรอลชนิดดี (HDL) ให้มีปริมาณที่ลดลง เป็นผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากร่างกายมนุษย์ไม่สามารถนำไขมันทรานส์ไปใช้ได้

องค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ แนะนำว่า ควรบริโภคกรดไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 10% หรือน้อยกว่า 22 กรัม/วัน หากเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง ต้องบริโภคน้อยกว่าร้อยละ 7 หรือน้อยกว่า 15.5 กรัม/วัน ไขมันดังกล่าวยังรวมถึงไขมันที่มาจากสัตว์ บริเวณเนื้อ, หนัง, สะโพก, มันหมู และเนื้อติดมัน ดังนั้นควรควบคุมการบริโภค โดยเฉพาะการใช้น้ำมันสำหรับปรุงอาหารให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะคือไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน

ขณะที่ อดุลย์ เปรมประเสริฐ กรรมการผู้จัดการผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชกุ๊ก ระบุว่า เดิมทีน้ำมันสำหรับการบริโภคไม่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากการสกัดเนื้อเยื่อของพืชและสัตว์ โดยไขมันทรานส์ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประชุมครั้งนี้ว่า จากการประชุมไม่มีความน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ผู้ประกอบการมีความพร้อมให้อุตสาหกรรมอาหารในประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสภาอุตฯจะช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องต่อไปร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจะมีการจัดสัมมนาขึ้นอีกครั้ง ผลการหารือครั้งนี้ออกมาในเชิงบวก เพราะแต่ละคนให้ความมั่นใจว่าสามารถทำได้มานานแล้ว เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการด้านอาหารในรูปแบบเชนสโตร์มีการใช้กระบวนการใหม่ที่ไม่ใช่แบบเดิม ตั้งแต่กระบวนการต้นทางที่นำน้ำมันมาใช้ จึงไม่มีผลต่อประกาศการห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน

นายวิศิษฐ์ยังฝากไปถึงผู้บริโภคด้วยว่า อย่าหลงเชื่อเรื่องการแชร์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย และเชื่อว่า อย.ได้ตรวจสอบก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามกำลังหารือกันว่าจะมีการจัดประชุมสัมมนาขึ้นอีกครั้งให้ทำความเข้าใจว่า สิ่งที่พวกเขาใช้ถูกต้องสำหรับการบริโภคอยู่แล้ว ปัญหาหลักอย่างเดียวในตอนนี้คือการแชร์ข้อมูลที่ผิดผ่านโลกโซเชียลเยอะมาก กลายเป็นว่าอาหารแทบทุกชนิดกินไม่ได้หมดเลย จะกลับไปใช้น้ำมันหมูหรือวิธีอื่นแบบเดิมก็ไม่ได้เลย ซึ่งน้ำมันหมูก็มีไขมันทรานส์อยู่แล้วในตัว นี่ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง อยู่ที่ผู้บริโภคจะเลือก ไม่ใช่น้ำมันทุกชนิดที่มีไขมันทรานส์ หากเป็นองค์กรของรัฐออกมาพูดถือว่าใช้ได้ ต้องเชื่อถือเขา แต่หากมีการแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าเชื่อถือได้หรือไม่

ตอนนี้มั่นใจว่าไม่มีบริษัทไหนผลิตน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนแล้ว และคิดว่าน่าจะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากผู้ประกอบการใหม่ๆ คงไม่ใช้กรรมวิธีการเติมไฮโดรเจนลงไป แต่จะนำมาผสมกันมากกว่า ส่วนต้นทุนที่อาจเพิ่มจะมาจากการปรับเปลี่ยนสูตร แต่ไม่กระทบมากนัก

“ขอเรียนว่า คำว่าไขมันทรานส์ต้องแยกให้ชัดเจนว่า อย.ประกาศห้ามผลิตน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนในการผลิตอาหาร ต้องแยกอย่างสิ้นเชิงกับไขมันทรานส์ เพราะไขมันสัตว์เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว” นายวิศิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image