154 อุทยานฯห้ามกล่องโฟม-ถุงพลาสติกหูหิ้วเข้าพื้นที่ ดีเดย์ 12 ส.ค. ชี้ ทำสัตว์ตายระบบนิเวศพัง

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรี ทส. ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินโครงการ “ทำดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” ด้วยกิจกรรมการลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ อุทยานฯเป็นแหล่งทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่รัฐบาลนำไปส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยและมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยานฯประมาณ 16 ล้านคน ปัญหาที่ตามมาจากกิจกรรมท่องเที่ยวคือ ขยะและน้ำเสีย โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติของอุทยานฯโดยเฉพาะกับสัตว์น้ำและสัตว์ป่า ที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งคือการพบเศษขยะและพลาสติกในกระเพาะสัตว์น้ำ ขณะที่อุทยานฯเขาใหญ่ พบปัญหาสัตว์ป่าตายจากสาเหตุระบบการย่อยอาหารล้มเหลว โดยพบเศษขยะพลาสติกในลำไส้และกระเพาะอาหารด้วย นอกจากนี้เศษพลาสติกจากฝาขวดบรรจุภัณฑ์ มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ทำให้ปลิวกระจายไปกับลมและลอยไปตามกระแสน้ำ ส่งผลกระทบปะการัง สัตว์น้ำ และความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว

นายทรงธรรมกล่าวอีกว่า ทั้งนี้นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมโครงการทำดีด้วยหัวใจฯ โดยออกประกาศกรมอุทยานฯเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เพื่อห้ามบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เข้าไปในเขตอุทยานฯทั้ง 154 แห่ง ได้แก่ กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร หรือกล่องโฟม จานพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้ว และขวดน้ำที่มีพลาสติกฝาหุ้มขวด และรณรงค์ลดการใช้แก้วน้ำ หลอด และช้อน-ส้อม ที่ทำจากพลาสติกในคราวเดียวกันด้วย และนำหลักการจัดการขยะแบบเหลือศูนย์มาใช้ เพื่อให้การจัดการขยะในอุทยานฯได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยจะเริ่มโครงการในวันที่ 12 สิงหาคม พร้อมกันทั่วประเทศ

“สำหรับมาตรการที่จะนำมาใช้นั้น ในระยะแรกจะเป็นการรณรงค์ขอความร่วมมือจากประชาชนและนักท่องเที่ยวให้งดนำกล่องโฟม ถุงพลาสติกหูหิ้ว เข้าไปในเขตอุทยานฯ โดยจะดำเนินโครงการขยะคืนถิ่น มัดจำขยะ หรือให้นำถุงพลาสติกที่บรรจุของมาเปลี่ยนเป็นถุงผ้าที่ทางอุทยานฯเตรียมไว้ แล้วนำถุงผ้ามาคืนเมื่อกลับออกจากอุทยานฯ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวส่วนมากมักจะซื้อของจากร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าในบริเวณใกล้เคียงก่อนเข้าอุทยานฯ ดังนั้นการรณรงค์ที่ต้นทางจึงเป็นสิ่งสำคัญด้วย ทั้งนี้หากใช้การรณรงค์แล้วไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ในอนาคตอาจพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายมาดำเนินการร่วมด้วย” นายทรงธรรมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image