สคร.12 สงขลาเตือน ‘ไข้ปวดข้อยุงลาย’ เผยยุงลายสวนสายพันธุ์แอฟริกาแพร่เชื้อเร็ว ปชช.ไร้ภูมิต้าน

วันที่ 24 กรกฎาคม ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลายสูงที่สุด เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีน้ำขังจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงอื่นๆ โรคที่ควรให้ความสนใจคือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ดร.นพ.สุวิชเปิดเผยว่า ความรุนแรงในผู้ใหญ่ มีมากกว่าในเด็ก โดยมีอาการที่เด่นชัดคือมีไข้ ออกผื่นก่อนแล้วมีอาการปวดข้อตามมา โรคปวดข้อยุงลายไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น จึงมียุงลายเป็นพาหะนำโรค แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการระบาดในวงกว้าง ทั้งนี้ การติดต่อของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เกิดจากยุงลายสวนสายพันธุ์แอฟริกาสามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากประชาชนยังไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อสายพันธุ์นี้

“ยุงลายสวนมักจะเกาะอยู่ตามต้นไม้กิ่งไม้รอบบริเวณบ้าน เมื่อยุงลายสวนกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่น จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย มีตาแดง อาการที่เด่นชัดคือมีไข้ ออกผื่น และจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดง อักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ แต่อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี” ดร.นพ.สุวิชกล่าว

Advertisement

ดร.นพ.สุวิชกล่าวต่อว่า เกณฑ์ของกรมควบคุมโรคตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชน เช่น ศาสนสถาน โรงเรือน โรงงาน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม เป็นสถานที่ที่ไม่ควรจะพบลูกน้ำยุงลาย เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคในชุมชนได้ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนอกบ้านให้หมด โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ” เก็บบ้านให้สะอาดเก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน และเก็บน้ำสำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image