หมอจุฬาฯเปิดปมอีก! กลุ่มบริษัทค้านการแบนสารเคมี ‘พาราควอต’

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเกิดปัญหากรณีการกำหนดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและแมลงพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพราะยังไม่สามารถห้ามการใช้และห้ามการนำเข้าได้ ยิ่งไปกว่านั้นจากข้อมูลจากเครือข่ายต้านสารพิษ และ biothai ทำให้ทราบว่า ขณะนี้มีการกระทำบางอย่างของทางกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่รวมตัวทำหนังสือส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายต่างๆ เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เป็นต้น ให้ได้ 5 ล้านไร่ ภายในปี 2564 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยประกาศว่าจะเข้าร่วมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว แน่นอนว่าการคัดค้านดังกล่าวจะรวมไปถึงการไม่เห็นด้วยที่จะแบนการนำเข้าสารเคมีพาราควอตเช่นกัน

“ย้ำมาตลอดว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชขนาดหนักและเนิ่นนานทำให้ดินหมดความสามารถในการดูดซับและในที่สุดก็ต้องปล่อยให้สารเคมีเหล่านี้หลุดออกมา ละลายในน้ำ เข้าไปในรากของพืช เข้าไปอยู่ในลำต้นใบล้างไม่ออก ต้มไม่สลายเพราะทนความร้อนได้ถึง 300 องศาเซลเซียส และยังเข้าไปในอาหาร เช่น ปลา ปู กบ เมื่อคนกินไปนานขึ้นเกิดโรคต่างๆ โรคมะเร็ง บริษัทที่ขายสารเคมี ผลิตสารเคมีเหล่านี้ยังผลิตยาฆ่ามะเร็ง กำไรถ้วนตั้งแต่ต้นจนถึงปลายครบวงจร ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เราไม่ควรเดินตามไม่ใช่หรือ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image