เลี้ยง ‘จิ้งหรีด’ แบบสมาร์ท เมื่อวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วย

“มติชน” เคยนำเสนอเรื่องราวของ “จิ้งหรีด” พันธุ์ทองดำ ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พัฒนาเพื่อเอาปริมาณโปรตีนที่มีอยู่ในตัวจิ้งหรีดมาทำเป็นเครื่องดื่มเสริมโปรตีน โดยได้รับการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ภายใต้ชื่อ โครงการวิจัยพัฒนาจิ้งหรีดเป็นอาหารแห่งอนาคต

วันนี้ การเลี้ยงจิ้งหรีดพัฒนาขึ้นอีกขั้นภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรูปแบบของ “สมาร์ทฟาร์ม” โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมสนับสนุนและผลักดันโครงการวิจัยพัฒนาจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารแห่งอนาคตแบบครบวงจร

เมื่อวันที่ 22-23 กรกฎาคม สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) (Science Park Promotion Agency: SPA) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารแห่งอนาคตแบบครบวงจร ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่าย ม.อุบลฯ ได้ร่วมสนับสนุน โดยนำจิ้งหรีด หนึ่งในแมลงกินได้และได้รับความนิยมบริโภคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมานาน ตลอดจนเริ่มมีการบริโภคกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปที่มีการเปิดรับและนิยมบริโภคจิ้งหรีดมากขึ้นมาก เพราะถือเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอีกแหล่งหนึ่งและจะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับมนุษยชาติในอนาคต โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ให้การยอมรับแมลงกินได้เป็นแหล่งอาหารเสบียงสำรองที่สำคัญของมนุษย์ เนื่องจากแมลงกินได้เป็นแหล่งโปรตีนที่ถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีวัฒนธรรมการบริโภคแมลงอยู่ก่อนแล้ว และปรากฏมีแมลงหลายชนิดที่ยังคงนิยมบริโภคในปัจจุบัน

Advertisement
ทิพวัลย์ เวชชการัณย์

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการ สอว.เปิดเผยว่า สอว.ให้การสนับสนุนการนำจิ้งหรีดมาเป็นแหล่งโปรตีน เพราะจิ้งหรีดมีประโยชน์มาก ประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 12.9% ไขมัน 5.54% และคาร์โบไฮเดรต 5.1% นอกจากนี้ จิ้งหรีดยังเป็นแมลงที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยแม่พันธุ์ 1 ตัวสามารถให้ลูกได้ถึง 1,000 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงไม่นาน ประมาณ 30-45 วัน สามารถเพาะเลี้ยงในลักษณะฟาร์มเล็กและขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นยังใช้พลังงานและทรัพยากรน้อยกว่าการเพาะเลี้ยงฟาร์มปศุสัตว์ทั่วไปและใช้แรงงานไม่มากอีกด้วย ที่สำคัญคือ ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการบริโภคแมลงชนิดนี้อยู่แล้ว จึงสามารถส่งเสริมและทำตลาดได้ไม่ยากนัก

รศ.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯให้ข้อมูลว่า โครงการพัฒนาจิ้งหรีดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบูรณาการความรู้สู่ชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ม.อุบลฯมีการวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงและแปรรูปจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารมาแล้วระยะหนึ่ง โดยกิจกรรมในโครงการมีทั้งส่วนของการศึกษาพัฒนาสายพันธุ์จิ้งหรีดเพื่อการเพาะเลี้ยง การพัฒนากระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดในลักษณะฟาร์ม โดยมุ่งไปสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์ม
เมอร์ สำหรับจิ้งหรีด (Smart Farming for Cricket) การส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ตลอดจนการวิจัยด้านการแปรรูปจิ้งหรีดไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รูปแบบการดำเนินงานโครงการวิจัยพัฒนาจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารแห่งอนาคตแบบครบวงจร โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาให้การสนับสนุน ต่อยอดในส่วนของการยกระดับการวิจัยไปสู่ตลาดและการสร้างผู้ประกอบการใหม่จากผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดนี้

Advertisement

ผศ.พรทิพย์ ไววุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ ม.อุบลฯกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาจิ้งหรีดนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาจิ้งหรีดให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่และสร้างอาชีพใหม่ให้เกษตรกร ในส่วนของการพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยง ม.อุบลฯได้พัฒนากระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดภัย และนำไปฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดกระจายอยู่ใน จ.อุบลฯและศรีสะเกษ มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพัฒนาฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการจำหน่ายแล้วจำนวนหนึ่ง โดยเลี้ยงในลักษณะฟาร์มขนาดเล็กในบ่อซีเมนต์ บ่อเดียวสามารถเก็บจิ้งหรีดได้ประมาณ 10 กก. และราคาจำหน่ายประมาณ กก.ละ 150-200 บาท ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าโครงการสามารถมีรายได้ 5,000-20,000 บาท/เดือน

“ที่สำคัญยังได้เน้นการนำเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การพัฒนากระบวนการสกัดสารสำคัญ เช่น กรดอะมิโนแอซิด โปรตีน ไขมันกลุ่มที่มีประโยชน์จากจิ้งหรีด เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมาได้แล้วจำนวนหนึ่ง เช่น ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนจากจิ้งหรีด ช็อกโกแลตจิ้งหรีด ผงโปรตีนสกัดจากจิ้งหรีด เป็นต้น” ผศ.พรทิพย์ กล่าว

นายชัชวิน นามมั่น อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ ผู้พัฒนาระบบสมาร์ทฟาร์มเพื่อเลี้ยงจิ้งหรีด กล่าวว่า ระบบได้ดัดแปลงกล่องเลี้ยงจิ้งหรีดโดยติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดทุกระบบภายในพื้นที่กล่องที่เลี้ยง เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง และจะปรับทุกอย่างให้อยู่ในสภาพปกติของการใช้ชีวิตของจิ้งหรีด จะทำให้จิ้งหรีดไม่หยุดกินอาหาร และไม่หยุดเจริญเติบโต เพราะหากเกิดความผิดปกติ เช่น ร้อนเกินไป แสงสว่าง หรือเย็นเกินไป จิ้งหรีดจะหยุดกินอาหารทันที ซึ่งระบบทั้งหมดจะเก็บข้อมูลและส่งตรงไปยังคณะเภสัชศาสตร์ ผู้ที่จะเอาข้อมูลทั้งหมดไปพัฒนารูปแบบการเลี้ยงให้เพิ่มมากขึ้น

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ วท. กล่าวว่า จิ้งหรีดจะเป็นโปรตีนที่ตอบโจทย์เรื่องอาหารของโลกในอนาคต “เชียร์และเชื่อมั่นว่าจะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ

“ต่อไปการเลี้ยงในระบบสมาร์ทฟาร์ม ราคาจะไม่อยู่แค่ 200 กว่าบาท แน่นอน เพราะจิ้งหรีดเวลานี้เป็นวัตถุทางโปรตีนที่หลายประเทศต้องการ คิดว่าจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไปพร้อมกับโปรเจ็กต์อื่นๆ ของ วท. เชื่อว่านายกฯจะชอบใจและส่งเสริมการดำเนินการเรื่องนี้จริงจังแน่นอน” นายสุวิทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image