หมอประกิตเผย WTO ชี้ ‘ซองบุหรี่เรียบ’ ออสซี่ ชอบธรรม-ไม่กีดกันการค้า จี้ สธ.เอาอย่าง

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงการออกกฎหมาย “ซองบุหรี่แบบเรียบ” (Plain Packaging) ของประเทศไทย ในการแถลงข่าว: เจาะลึกคำตัดสิน WTO กรณีกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบมีความชอบธรรม ที่โรงแรมรอยัล ปริ้นเซส หลานหลวง จัดโดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ประเทศไทยมีมาตรา 38 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้บริษัทบุหรี่จะต้องทำหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น ขนาด สี สัญลักษณ์ รูปภาพ ฉลาก การแสดงเครื่องหมายการค้า ฯลฯ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้สามารถออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดซองบุหรี่แบบเรียบเช่นออสเตรเลียได้

“จากการเชิญนายโจนาธาน ลิเบอร์แมน ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมาย The McCabe Centre for Law and Cancer เมิลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และศูนย์วิชาการด้านการกฎหมาย อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก มาให้ข้อมูลกรณีรัฐบาลออสเตรเลียถูกบริษัทบุหรี่ฟ้องหลังออกมาตรการบุหรี่ซองแบบเรียบ ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า การออกกฎหมายบังคับซองบุหรี่แบบเรียบมีความชอบธรรม เพราะมีคดีตัวอย่างจากออสเตรเลีย ยืนยัน โดยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 องค์การการค้าโลกได้ประกาศผลการตัดสินข้อพิพาทดังกล่าวว่า ซองบุหรี่แบบเรียบของออสเตรเลียมีความชอบธรรม และไม่ขัดต่อกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศภายใต้องค์การการค้าโลก โดยให้เหตุผลว่า ไม่กระทบต่อการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพราะเป็นการให้สิทธิในการกีดกันหรืออนุญาตผู้ประกอบการรายอื่น แต่ไม่ใช่กับภาครัฐ เพราะรัฐออกมาตรการที่จำเป็นต่อสุขภาพของประชาชน การออกมาตรการดังกล่าวจึงถือว่าเหมาะสม เป็นมาตรการที่ไม่สามารถหามาตรการอื่นมาทดแทนได้ และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสุขภาพเยาวชน จึงไม่ขัดกับข้อตกลงของ TRIPS ที่ว่า รัฐไม่สามารถออกมาตรการจำกัดสิทธิทางการค้าโดยไม่สมเหตุผล และมาตรการดังกล่าวไม่ใช่การเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด” ศ.นพ.ประกิต กล่าวและว่า ดังนั้น ประเทศอื่นก็สามารถทำได้ และประเทศไทยควรรีบออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ และหากรัฐบาลไม่ดำเนินการ อาจเข้าข่ายละเมิดมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลเปรียบเทียบหรือไม่ว่า ประเทศไทยกำหนดภาพคำเตือนจากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 ช่วยลดนักสูบได้ และหากออกเป็นซองบุหรี่แบบเรียบจะช่วยลดนักสูบเพิ่มได้หรือไม่ ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ เป็นหนึ่งในหลายมาตรการลดการบริโภคยาสูบ จึงไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเพียงมาตรการเดียวช่วยลดนักสูบได้มากน้อยแค่ไหน การกำหนดภาพคำเตือนบนซองก็เช่นกัน ประเทศไทยทำพร้อมกันหลายมาตรการ แต่ละมาตรการมีวัตถุประสงค์เฉพาะ

ด้าน น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศสิงคโปร์มีการเดินหน้าเรื่องการออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบแล้ว และจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ ส่วนประเทศมาเลเซีย ซึ่งถูกฟ้องร้องเรื่องนี้เมื่อ 3-4 ปี เมื่อรู้ผลการตัดสินขององค์การการค้าโลก เชื่อว่าจะมีการขับเคลื่อนเพื่อออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบต่อเช่นกัน และว่าซองบุหรี่แบบเรียบของออสเตรเลีย จะใช้สีเทาหม่น ที่มีการวิจัยแล้วว่าเป็นสีที่เยาวชนเห็นแล้วทำให้รู้สึกเบื่อได้มากที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image