สปส.เข้าใจดีลูกจ้างบางส่วนไร้ ‘สิทธิเงินทดแทน’ เหตุถูกจ้างเหมา เผยสธ.หาทางออกภาพรวมแล้ว

ตามที่ยังมีข้อเรียกร้องของกลุ่มลูกจ้าง ภาคีแรงงานต่างๆ กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านร่างพ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับใหม่ ซึ่งจะได้สิทธิสวัสดิการต่างๆ ทั้งเงินทดแทนการหยุดงาน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ ฯลฯ ซึ่งเดิมครอบคลุมลูกจ้างเอกชน แต่ครั้งนี้จะครอบคลุมลูกจ้างราชการกว่า 1 ล้านคนเป็นครั้งแรก และจะมีผลบังคับใช้เดือนธันวาคม 2561 ปรากฎว่ายังมีกลุ่มลูกจ้างเหมาบริการหรือทำของ และลูกจ้างรายวันที่จะไม่ได้สิทธิตรงนี้ เพราะไม่เข้าข่ายการจ้างงานตามสิทธิประกันสังคม และหากจะได้สิทธิก็ต้องจ่ายสมทบกรณีแรงงานนอกระบบ

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ตนเข้าใจและรับทราบปัญหาของทางลูกจ้างส่วนราชการมาตลอด ซึ่งตามพ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับใหม่จะให้สิทธิสวัสดิการต่างๆ ทั้งเงินทดแทนเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ร้อยละ 70 ของค่าจ้างไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 60 และยังมีสิทธิสวัสดิการอื่นๆอีก โดยจะครอบคลุมทั้งลูกจ้างเอกชนและราชการ ซึ่งในส่วนลูกจ้างส่วนราชการมีกว่า 9 แสนคน แต่ที่ทางกลุ่มแรงงานออกมาร้องนั้น มีประมาณ 4-5 แสนคนเป็นกลุ่มจ้างทำของเป็นชิ้นๆ งาน

“ที่ผ่านมาทางสปส. ก็มีการหารือร่วมกับหลายกระทรวงในการแก้ปัญหาจ้างงานให้เหมาะสม อย่างกระทรวงสาธารณสุขก็มีการดำเนินการอยู่ เพราะต้องเข้าใจว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังปรับอัตรากำลังคนให้พอเหมาะ  อย่างของสปส.เวลาจะจ้างงานก็จะไม่จ้างแบบเหมาทำของเอง ก็จะจ้างบริษัทอีกที ซึ่งบริษัทก็ต้องจ้างคนก็จะเข้ากฎหมายประกันสังคม ต้องจ่ายเงินสมทบ ลูกจ้างก็จะได้สิทธิอยู่แล้ว ดังนั้น ในกลุ่มที่เป็นแรงงานอิสระ หรือเหมาทำของตามที่กรมบัญชีกลางกำหนดก็ต้องจ้างตามนั้น ซึ่งการให้สิทธิตามมาตรา 40 ในการจ่ายเงินสมทบของลูกจ้างเองก็เป็นอีกทางเลือกเพื่อให้ได้สิทธิเพิ่มเติม” นพ.สุรเดช กล่าว

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้มาตลอด 2-3 ครั้งแล้ว และจะมีการประชุมในวันที่ 15 สิงหาคมนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันลูกจ้างส่วนราชการของสธ.มีประมาณ 4-5 หมื่นคน  ซึ่งรวมทั้งหมด ส่วนประเด็นเรื่องลูกจ้างรายวันนั้น ทางสธ.ไม่ได้นิ่งเฉย ก็มีการหารือว่าจะมีทางออกอย่างไร เพราะถ้าจ้างรายวันก็ควรต้องไม่จ้างยาวไปเป็นเดือนๆ เพราะจะทำให้พวกเขาไม่ได้สิทธิสวัสดิการ แต่การจ้างรายวันควรเป็นกรณีจำเป็น หรือเป็นงานหรือกิจกรรมพิเศษ ซึ่งปัจจุบันการจ้างงานได้มอบให้ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) เป็นผู้พิจารณาภาพรวมของจังหวัดว่า แต่ละแห่งควรมีกรอบการจ้างงานที่สอดคล้องกับภาระงานอย่างไร ซึ่งทั้งหมดคาดว่าภายในวันที่ 15 สิงหาคมน่าจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image