ติดตาม 13 ทีมหมูป่า-จนท.ช่วยเหลือ มั่นใจไร้โรค 99% ติดตามต่อปีครึ่ง

เมื่อวันที่ 3  สิงหาคม ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย กล่าวในการเสวนาวิชาการเรื่อง “ถ้ำหลวง : ความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่” ว่า พื้นที่ภายในถ้ำเป็นพื้นที่ที่มีการปะปนของเชื้อโรคทั้งจากสิ่งแวดล้อมภายใน อาทิ น้ำ ผนังถ้ำ ละอองฝอยต่างๆ รวมถึงเชื้อโรคจากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ภายในถ้ำ เช่น ค้างคาว แมลงต่างๆ เป็นต้น ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคอยู่ที่ระยะเวลาและกิจกรรมที่ทำ ว่ามีความเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน สำหรับการตรวจเชื้อโรคอุบัติใหม่ในน้องๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมี่และโค้ชรวม 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน รวมถึงผู้ที่เข้าไปให้การช่วยเหลือนั้น พบว่าไม่มีการติดเชื้อทั้งเชื้อที่เคยเจอในมนุษย์ และที่ยังไม่เคยเจอมาก่อน คิดว่ามั่นใจร้อยละ 99 ว่าไม่มีโรคแล้ว แต่ก็ต้องติดตามต่อเนื่อง

“กระทรวงสาธารณสุขได้มอบบัตรประจำตัวให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนพกเอาไว้ หากวันใดวันหนึ่งมีการแสดงอาการของโรคบางอย่างขึ้นต้องมาพบแพทย์ และแสดงบัตรประจำตัวให้ทราบว่ากาลครั้งหนึ่งเคยไปคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ถ้ำหลวง ซึ่งเรายังต้องติดตามไปอย่างน้อยปีครึ่งเพราะอาจจะมีบางเชื้อโรคที่แฝงตัวอยู่ในร่างกาย ยกตัวอย่างที่ผ่านมามีการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ในคนเกิดอาการป่วย แล้วหาย แต่พอผ่านไป 18-24 เดือนกลับพบว่ามีเชื้อไวรัสนิปาห์แฝงอยู่ในสมองโดยไม่แสดงอาการอะไร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว และว่า หลังเกิดกรณีที่ถ้ำหลวงแล้วมีคนที่อยากจะไปถ้ำ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติบริสุทธิ์ ดังนั้นจะต้องรู้จักการเฝ้าระวังตนเอง ซึ่งก่อนหน้าทางกระทรวงกลาโหม แอฟริม (Afrims Us-Lab) ได้มีการศึกษาแมลง เห็บ หมัด ไร ริ้น ที่ก่อโรคตามตะเข็บชายแดน ว่าพื้นที่ไหน เวลาใด มีความเสี่ยงในการติดเชื้อหากเราเอามาปรับรับกับการท่องเที่ยวได้ก็จะเป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเอง

น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตอนนี้พบว่ามีประชาชนให้ความสนใจท่องเที่ยวภายในถ้ำมากขึ้น ดังนั้นทางกรมอุทยานจะต้องมีการเข้าไปสำรวจภายภายในถ้ำทั้งสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ตนจะนำเอาข้อเสนอแนะจากทีมแพทย์เกี่ยวกับเรื่องการป้องกันตนเองในการเข้าไปภายในถ้ำว่าจะต้องมีการสวมอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ สวมหมวก สวมหน้ากาก แว่น เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักที่สากลปฏิบัติกันนี้อยู่แล้ว ต้องเผยแพร่เรื่องนี้ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจมากขึ้น และหน่วยงานที่ดูแลก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มความปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image