กทม.จี้ ‘บีทีเอสซี’ แก้ปมรถไฟฟ้า ‘อาณัติสัญญาณ-ประตูเปิด-ฝนรั่ว’ ขัดข้องอีกให้ลงทุนคลื่นใหม่

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ศาลาว่าการ กทม. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานประชุมติดตามการปรับปรุงแก้ไขอุปกรณ์และระบบอาณัติสัญญาณ (คลื่นความถี่) ในการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมหารือกรณีบานประตูเปิดขณะวิ่งให้บริการ ร่วมกับผู้บริหาร กทม. ทั้งจากสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานกฎหมายและคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที

นายสกลธีเปิดเผยว่า บีทีเอสซียืนยันปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณต่อเนื่อง โดยได้ปรับเปลี่ยนตัวรับสัญญาณครบทุกขบวน ทุกสถานี ส่วนอุปกรณ์กรองสัญญาณ หรือฟิลเตอร์ ติดตั้งในทุกขบวนแล้ว ส่วนตามสถานีจะติดตั้งแล้วเสร็จเดือนกันยายนนี้ ซึ่งหลังจากปรับสัญญาณและอุปกรณ์ พบว่าระบบมีความเสถียรมากขึ้น ความขัดข้องของขบวนรถไฟฟ้าน้อยลง

“ภายหลังติดตั้งอุปกรณ์แล้วเสร็จสมบูรณ์ บีทีเอสซีมั่นใจว่า รถไฟฟ้าจะเกิดเหตุขัดข้องน้อยลง ส่วนอนาคตหากเกิดเหตุขัดข้องอีก กทม.จะนำประเด็นข้อเสนอให้เปลี่ยนคลื่นความถี่การเดินรถกลับมาพิจารณา ซึ่งในการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันว่าพร้อมจะจัดสรรความถี่ให้ แต่บีทีเอสซีต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ไม่ใช่ผลักเป็นภาระของผู้โดยสาร” นายสกลธีกล่าว

นอกจากนี้ นายสกลธีกล่าวอีกว่า ยังได้พูดคุยถึงกรณีประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดขณะรถเคลื่อนตัว ซึ่งบีทีเอสซีแจ้งว่าไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว จากการเข้าตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าประตูบานดังกล่าวเปิดปิดด้วยแรงแม่เหล็ก แต่ที่เกิดปัญหาเพราะแรงแม่เหล็กดูดประตูทั้งสองข้างเบา ทำให้ปิดไม่สนิท จึงดำเนินการซ่อมก่อนขบวนรถออกให้บริการ แต่หลังซ่อมเสร็จ ปรากฏว่าตัวล็อกที่ปลดออกมาเพื่อซ่อมบิดเกลียวสวิตช์ล็อกไม่แน่น เมื่อรถเคลื่อนออกจากสถานีถึงช่วงขึ้นเนิน ทำให้ประตูเปิดออก บีทีเอสซียืนยันว่าเป็นความผิดพลาดของคน ไม่ใช่เกิดจากระบบ เพราะหากเป็นที่ระบบ เมื่อเกิดปัญหาใดก็ตามจะมีสัญญาณเตือนแจ้งไปยังสถานี หรือศูนย์เดินรถ และรถขบวนนั้นจะหยุดทันที ไม่สามารถเคลื่อนขบวนได้ แต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย

Advertisement

“บีทีเอสซีแจ้งว่าได้ว่าจ้างบริษัท ซีเมนส์ จำกัด เข้าดำเนินการซ่อมบำรุงรักษารถ ฉะนั้น จึงไม่ใช่ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้า ผมจึงได้กำชับให้บีทีเอสซีกำหนดบทลงโทษบริษัทดังกล่าว ซึ่งบีทีเอสซีจะนัดประชุมภายใน 1-2 วันเพื่อดำเนินการตักเตือนและลงโทษต่อไป ขณะเดียวกัน บีทีเอสซีได้เพิ่มความถี่ของกระบวนการตรวจสอบขบวนรถไฟฟ้าจาก 1-2 ครั้ง เป็น 4 ครั้ง จากผู้รับจ้างซ่อมบำรุง และเพิ่มอีก 4 ครั้ง จากเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้า รวมเป็น 8 ครั้ง โดยรับประกันจะไม่เกิดเหตุขึ้นอีก” นายสกลธีกล่าว และว่า ส่วนกรณีน้ำฝนรั่วซึมเข้ารถไฟฟ้านั้น ได้รับการชี้แจงว่า เป็นเพียงบางขบวนในจำนวน 52 ขบวนที่ให้บริการ ซึ่งเกิดจากระบบท่อสายไฟเสื่อม ทำให้น้ำรั่วซึม จะแก้ไขเปลี่ยนท่อสายไฟทุกขบวนภายในเดือนสิงหาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image