‘อัศวิน’ ลงพื้นที่ตรวจจุดอ่อน ‘น้ำท่วม’ ย่านสุขุมวิท มั่นใจรับมือได้

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 8 สิงหาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะลงพื้นที่ตรวจความพร้อมระบบระบายน้าพื้นที่เขตวัฒนาและเขตคลองเตย ตั้งแต่บริเวณถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ปากซอย 5 ถึงปากซอย 26 ภายหลังประชาชนกังวลสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำในเขื่อนหลายจังหวัดมีปริมาณมาก ว่า ภายหลังเครื่องสูบน้ำใต้ดินบริเวณถนนสุขุมวิท 26 ขัดข้องเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ทำให้บริเวณนี้เกิดปัญหาน้ำรอระบาย ล่าสุด สำนักการระบาย เร่งซ่อมแซมจนปัจจุบันกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ รวมถึงจัดทำระบบท่อระบายน้ำตั้งแต่ถนนสุขุมวิท ถึง ถนนพระราม 4 บริเวณซอยสุขุมวิท 26, 36,42 ช่วยดึงน้ำจากเขตวัฒนาออกสู่คลองหัวลำโพงด้วย ขณะเดียวกัน พบว่าซอยสุขุมวิท 5 ภายในถนนค่อนข้างคับแคบ ทางเท้าทั้งสองฝั่งทรุดตัวกระทบท่อระบายน้ำขนาด 60 เซนติเมตร (ซม.) ทำให้เกิดน้ำรอระบายเป็นประจำ จึงกำชับให้สำนักงานเขตวัฒนาเร่งแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า พบว่าช่วงตั้งแต่ถนนสุขุมวิท 101 ต่อเนื่องถึงซอยแบริ่ง-ลาซาล เป็นหนึ่งในจุดอ่อนน้ำท่วมของกรุงเทพฯ เพราะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ และเป็นพื้นที่รอยต่อ จ.สุมทรปราการ ปัจจุบัน กทม.ร่วมกับเทศบาลสำโรงเหนือ สร้างระบบระบายน้ำด้วยวิธีดันท่อลอด หรือไปป์แจ็คกิ้ง 4 จุด ขณะนี้แล้วเสร็จ 2 จุด และอีก 2 จุดอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาได้มาก เช่นเดียวกับจุดอ่อนน้ำท่วมอื่นอีก 17 จุด ที่ กทม.พยายามเร่งแก้ไข ทั้งนี้ไปป์แจ็คกิ้ง รวม 11 โครงการ จะมีอย่างน้อย 5-6 จุด แล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนที่เหลือคาดจะแล้วเสร็จทั้งหมดเดือนมีนาคม 2562 และจะขยายเพิ่มอีก 6 จุด โดยใช้งบอุดหนุนจากรัฐบาล

Advertisement

พล.ต.อ.อัศวิน ยังกล่าวว่า หากฝนตกน้อยกว่า 100 มิลลิเมตร (มม.) มั่นใจรับมือได้ แต่หากตกมากกว่านั้น คาดจะใช้เวลาระบายน้ำ 1 ชั่วโมง ส่วนสถานการณ์น้ำเหนือ ขณะนี้ยังไม่กังวล อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพที่จะสามารถรับปริมาณน้ำได้มากน้อยเพียงใด โดยปริมาณน้ำที่สถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เคยท่วมเมื่อปี 2554 วัดได้ 3,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที แต่ปัจจุบันไม่ถึง 1,000 ลบ.ม. ส่วนฝนตกหลังเขื่อนก็ห่วง แต่เชื่อว่า กทม.รับมือได้ แต่หากสถานการณ์น้ำเริ่มน่าเป็นห่วง กทม.จะแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า และขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องยกของขึ้นที่สูง

ด้านนายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ เหลือจุดอ่อนน้ำท่วม 17 จุด จาก 50 กว่าจุด และมีจุดเฝ้าระวังหรือจุดเสี่ยงอีก 53 จุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำบางซื่อเปิดใช้งานแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image