ควันหลง ติดถ้ำ วท.ปล่อยของ นวัตกรรมกู้ภัย

การจะเข้าสู่ประเทศ 4.0 ไม่ใช่แค่คิดและพูดก็ทำได้ทันที แต่ต้องมีปัจจัยองค์ประกอบหลายด้าน
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าจะนำพาประเทศไปถึงจุดนั้น ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปสู่จุดหมาย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงมีบทบาทสำคัญที่จะหยิบยกเอาชิ้นงาน ผลงาน และวิธีการทำงานมาใช้แสดงศักยภาพให้นำพาประเทศไปสู่เป้าหมายให้ได้

งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงเป็นงานสำหรับการ ปล่อยของŽ ของ วท.ก็ว่าได้ แต่ละปีที่จัดงานนี้ขึ้นมาก็จะนำเอาสุดยอดผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอันล้ำยุคมาแสดงให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนได้รับรู้

Advertisement

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้รายละเอียดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ปีนี้จะจัดแสดงในวันที่ 16-26 สิงหาคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี ว่าจะเปิดตัว 9 ไฮไลต์ สร้างแรงบันดาลใจ

Advertisement

ความร่วมมือจาก 10 กระทรวง 10 ประเทศ รวม 100 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.นิทรรศการวิทยาศาสตร์…ติดถ้ำ รู้จักกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของถ้ำ เที่ยวถ้ำจำลอง เรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมการกู้ภัยในถ้ำ 2.นิทรรศการวิกฤตขยะ 3.4-D Theatre เรื่องการผจญภัยของแพนด้าก้วนก้วน 4.นิทรรศการเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต มารู้จักกับผู้ใช้เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรม และพบกับนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกอนาคต

5.นิทรรศการยุคข้อมูลครองโลก ยุคนี้ใครๆ ก็พูดถึง BIG DATAŽ มาหาไอเดียการจัดการปริมาณข้อมูลมหาศาลและเพิ่มทวีมากขึ้นทุกวันอย่างชาญฉลาด 6.นิทรรศการอาหารแห่งศตวรรษ Super Food 7.เทรนด์ที่กำลังมาแรงในเรื่องการดูแลสุขภาพ 8.ละครวิทยาศาสตร์ ฟ้าสว่างที่หว้ากอŽ สร้างสรรค์เนื้อหาและเทคนิคการนำเสนอขึ้นใหม่ โดยคณะละครมรดกใหม่ และ 9.การเรียนรู้ตลอดชีวิตในแนวทาง สะเต็มศึกษา จากห้องทดลองวิทยาศาสตร์ และลานกิจกรรมประกวดแข่งขัน และประกวดของเล่นทางวิทยาศาสตร์

รัฐมนตรีสุวิทย์ กล่าวว่า ไม่ต้องกังวลมางานมหกรรมแล้วจะเห็นแค่บอร์ดนิทรรศการ หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาวางโชว์แล้วมีเจ้าหน้าที่ยืนเฝ้าบูธ แต่เขาพร้อมจะให้ทุกคนได้ทดลองใช้ของ ได้ทดลองปฏิบัติสำหรับอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นๆ

อย่างเรื่องนวัตกรรมการกู้ภัยในถ้ำ นอกจากจะมีอุปกรณ์ที่เคยช่วยชีวิต 13 หมูป่าในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนแล้ว ยังจำลองสถานการณ์ติดอยู่ในถ้ำและถูกช่วยชีวิตออกมา ถือเป็นไฮไลต์ของงานที่น่าสนใจมากๆ
ชิ้นงานที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำมาโชว์ ประกอบด้วย เรือดำน้ำจิ๋ว หรือเรือดำน้ำหมูป่า ที่พัฒนาโดย อีลอน มัสก์ (Elon Musk) บริษัทสเปซเอ็กซ์ (Space Exploration Technologies Corporation-SpaceX) และรถยนต์ไฟฟ้า Tesla โดยยานดำน้ำถูกสร้างมาจากโครงสร้างภายในของจรวด Falcon 9 เพื่อใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในถ้ำที่สลับซับซ้อนได้ โดยไม่ต้องมีประสบการณ์ดำน้ำ

เรือดำน้ำจิ๋วมีรูปทรงคล้ายแคปซูล ดัดแปลงมาจากท่อส่งออกซิเจนเหลวของจรวดฟอลคอน (Falcon Rocket) ซึ่งมีน้ำหนักเบา แข็งแรง ที่สำคัญมีขนาดเล็กพอจะผ่านช่องแคบต่างๆ ภายในถ้ำได้ ส่วนการเคลื่อนย้ายนั้นจะมีนักดำน้ำ 2 คนคอยประคองเรือดำน้ำจิ๋วหรือแคปซูลนี้ลัดเลาะไปตามช่องแคบต่างๆ กระทั่งออกจากถ้ำได้ในที่สุด

ชุดนักบินรบ (WARRIOR PILOT FLIGHT SUITS) หมวกบิน ที่มีรูปทรงคล้ายกับหมวกกันน็อกรถมอเตอร์ไซค์ พิเศษตรงที่จะมีน้ำหนักเบากว่า (LIGHT WEIGHT) ตัวหมวกหล่อจากไฟเบอร์กลาสตามขนาดศีรษะของนักบินแต่ละคน ภายในรองด้วยโฟมและมีแผ่นฟองน้ำรองด้านในอีกครั้งหนึ่ง มีสายรัดคางป้องกันการหลุด ที่หมวกติดแว่นกันแดด (LENSE VISOR) เพื่อป้องกันแสงแดด มีชุดหูฟังและไมโครโฟนเพื่อการติดต่อสื่อสาร อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือหน้ากากออกซิเจน สำคัญต่อการบินสำหรับเครื่องบินสมรรถนะสูงที่บินในความสูงมากๆ เพราะชั้นบรรยากาศที่ระดับความสูงเพิ่มมากขึ้น ความหนาแน่นของอากาศจะลดลง ปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการหายใจก็ลดลงด้วย นักบินจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ ไม่ให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนจนนำไปสู่อาการที่เรียกว่า HYPOXIA หรือการทำงานของร่างกายและสมองบกพร่อง นักบินจะรู้สึกมึนงง มือเท้าชา ตาพร่ามัว ลานตาแคบลง อาการจะเกิดค่อยเป็นค่อยไป นักบินจะไม่รู้สึกตัวและหมดสติในที่สุด

ชุดบิน เป็นเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าพิเศษ เนื้อผ้าที่ใช้จะชุบด้วยน้ำยากันไฟ โดยมีกระเป๋าซ่อนอยู่หลายใบเพื่อไว้ใส่อุปกรณ์ประจำตัวนักบิน ถุงมือนักบินเพื่อช่วยให้จับอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องนักบินได้ถนัดขึ้นและให้ความอบอุ่น

ชุดต้านแรงจี (G-SUIT) มีลักษณะเป็นรูปทรงกางเกง ใส่เพื่อช่วยให้ร่างกายทนต่อแรงจีได้นานขึ้น โดยเฉพาะนักบินที่บินกับเครื่องบินสมรรถนะสูงที่ใช้ความเร่งและความเร็วสูง หรือมีการเปลี่ยนแปลงความเร่งอย่างรวดเร็ว ผลของแรงจีทำให้เลือดไหลไปกองที่ขา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต่ำกว่าสมองและหัวใจ เลือดจึงขาด สิ่งที่จะช่วยนักบินได้คือการใส่ชุดต้านแรงจีสวมทับชุดบินอีกชั้นหนึ่ง ชุดต้านแรงจีจะมีกระเป๋าลมที่ให้แรงดันลมบีบรัดต้นขานักบิน ให้เลือดที่กองอยู่บริเวณขามีแรงดันส่งเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองและส่วนต่างๆ ของร่างกาย

รองเท้านักบิน รูปทรงคล้ายรองเท้าคอมแบตเดินป่า แต่มีน้ำหนักเบากว่า เป็นรองเท้าที่ผลิตจากหนังสีดำเพื่อกันกระแทกและกันลื่น นักบินใส่แล้วต้องมีความกระชับและคล่องตัว

เสื้อยังชีพ อุปกรณ์ช่วยชีวิตนักบินเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน กรณีที่นักบินดีดตัวออกจากเครื่องและตกลงกลางป่า เสื้อยังชีพจะมีอุปกรณ์ช่วยยังชีพให้นักบินอยู่รอด และรอรับการช่วยเหลือจากหน่วยค้นหาช่วยชีวิต อุปกรณ์ในเสื้อยังชีพ ประกอบด้วย ชุดกำเนิดควันและพลุสัญญาณเพื่อส่งสัญญาณให้หน่วยค้นหาช่วยชีวิตทราบถึงตำแหน่งที่อยู่ของนักบิน, พลุให้ความสว่าง, เข็มทิศ, ปืนพกป้องกันตัว, ไฟฉาย, กระจกเงา, วิทยุติดต่อสื่อสาร, ยาเวชภัณฑ์ สำหรับอาหารยังชีพ, น้ำและแพยางจะถูกเก็บไว้ใต้เก้าอี้ดีดของนักบิน

ร่มชูชีพ นักบินจะใส่ไว้ข้างหลัง เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตนักบินเวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เมื่อถึงคราวต้องสละเครื่อง ขณะที่นักบินดีดตัวออกจากเครื่องร่มจะถูกกางออกโดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยพยุงให้นักบินค่อยๆ ตกลงพื้นอย่างช้าๆ ทำให้นักบินมีความปลอดภัยขึ้น

สื่อเทคโนโลยี 3 มิติเหมือนจริง สัมผัสประสบการณ์มองเห็นในมุมที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าที่เคย สร้างความสนุกสนาน ตื่นเต้นในการเรียนการสอน ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องแสดงภาพ 3 มิติ แว่นตา 3 มิติ ที่มีแถบเซ็นเซอร์ติดตามการเคลื่อนไหว และปากกาสไตลัสที่ออกแบบโดยเฉพาะเพื่อควบคุมการแสดงภาพของวัตถุต่างๆ ตามโปรแกรมสื่อการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ เหมาะสำหรับการใช้งานในห้องแล็บ

ผ้าห่มฟอยล์ หรือผ้าห่มฉุกเฉิน (Emergency Blanket) เป็นผ้าห่มที่ใช้สำหรับป้องกันการสูญเสียความร้อนในร่างกาย เหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่อุณหภูมิในร่างกายเย็นจัด (Hypothermia) หรือหนาวสั่น ป้องกันการเป็นไข้เฉียบพลัน ผ้าห่มฉุกเฉินหรือที่เรียกกันว่าผ้าห่มอวกาศ หรือไมลาร์แบลงเก็ต ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยองค์การอวกาศนาซา (NASA) ในปี ค.ศ.1964 เพื่อใช้กับนักบินอวกาศ เป็นต้น

กระทรวงวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าเอาไว้ว่าปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์จากทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน

เราจะเป็น 1 ใน 2 ล้านนั้นหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image