ผนึกกำลังหน่วยงานรัฐ เดินหน้านโยบาย ‘นมแม่’ รากฐานชีวิตลูก

“ขณะนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขกำลังเดินหน้าเพื่อบรรจุชุดสิทธิประโยชน์ประเด็น นมแม่ ให้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในหมวดการส่งเสริมป้องกันโรคให้แม่และลูกมีสุขภาพที่ดี..”  พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงหนึ่งในนโยบายของกรมอนามัยในการส่งเสริมป้องกันโรคของทารก ที่จำเป็นต้องมีกลไกในการสนับสนุนให้โรงพยาบาลในการให้บริการด้านนี้

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์

พญ.อัมพร  กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐต่างๆ จะให้บริการเกี่ยวกับงานฝากครรภ์ การดูแลระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด หรือการดูแลให้คำแนะนำหลังคลอด แต่ไม่มีกลไกทางการเงินเพื่อความคล่องตัวแก่โรงพยาบาลเป็นการเฉพาะ ซึ่งแน่นอนว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งกรมอนามัย เพื่อหารือว่า จะมีกลไกอย่างไรเข้ามาเสริมเรื่องดังกล่าว เช่น หากมีมารดามาฝากครรภ์ หรือมาใช้บริการต้องการคำแนะนำต่างๆ อย่างเรื่องนมแม่ อาจมีงบบริการจำนวนหนึ่งเข้ามาเสริมได้หรือไม่   ซึ่งทราบว่า สปสช.กำลังรวบรวมข้อมูลความเป็นไปได้เรื่องนี้อยู่ ซึ่งเบื้องต้นจะให้ในส่วนของการฝากครรภ์ แต่ในเรื่องนมแม่ จะเป็นขั้นตอนต่อไป

 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายเพิ่มเติมว่า เดิมทีมีอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์เป็นการเหมาให้กับทางโรงพยาบาล ในเรื่องของการฝากครรภ์ ดูแลก่อนและหลังคลอด เพียงแต่ครั้งนี้จะชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจะแยกออกมาเป็นข้อๆ เริ่มวันที่  1 ตุลาคม 2561 นี้ เช่น หากรพ.ไหนให้บริการครบตามเงื่อนไข ทั้งการฝากครรภ์ การให้คำแนะนำก่อนและหลังคลอด รวมทั้งเรื่องการให้นมแม่ ก็จะมีรายละเอียดและมีกลไกทางการเงินจัดสรรให้  ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในหมวดของการส่งเสริมป้องกันโรค โดยเกณฑ์ต่างๆ ก็จะเป็นไปตามคำแนะนำของกรมอนามัย

Advertisement
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะในทารก 6 เดือนแรกนั้น  เป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากองค์การอนามัยโลก(Who) แนะนำว่า ให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยไม่ให้น้ำหรืออาหารอื่นๆ เสริมเลยในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต  หลังจากนั้นให้นมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยจนเด็กอายุครบ 2 ปี หรือนานกว่านั้น

เกิดคำถามว่า หากแม่หรือผู้เลี้ยงให้ น้ำดื่มแทนนมแม่ในช่วงอายุน้อยกว่า 6 เดือนจะเป็นอย่างไร..

พญ.อัมพร บอกว่า    เนื่องจากทารกมีกระเพาะอาหารเล็ก หากดื่มน้ำเข้าไปเสริมอีก ก็จะทำให้อิ่มเร็ว และไม่ต้องการกินนมแม่ที่มีสารอาหารครบถ้วน และยังทำให้ทารกติดขวดนม แทนที่จะติดดื่มนมจากเต้าของมารดา

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ทารกได้กินน้ำ ที่ผ่านมาในปี 2559  กรมอนามัย ได้ทำการศึกษาช่วงเวลาและปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมผสมหรืออาหารอื่น  โดยพบว่า ในกลุ่มแม่และผู้ดูแลหลักของทารกและเด็กเล็กอายุ 0- 2 ปี จำนวน 1,147 คน จาก 16 จังหวัดทั่วประเทศ  ป้อนอาหารอื่นที่ทารกได้กินมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรก คือ น้ำเปล่า โดยแม่หรือผู้ดูแลหลักของทารกและเด็กเล็ก ร้อยละ 86.4 เคยให้ทารกกินน้ำในช่วงก่อนอายุ 6 เดือน โดยเหตุผลหลักที่ให้ทารกกินน้ำเปล่าก่อนอายุครบ 6 เดือน  ประกอบด้วย

1.เพื่อล้างปาก ร้อยละ 55 2.คิดว่าการกินน้ำเป็นเรื่องปกติ ร้อยละ 21.7 3.ผู้ดูแลให้กิน ร้อยละ 15.6 4.ทำให้ทารกไม่มีอาการตัวเหลือง ร้อยละ 10.7 5.ช่วยระบบขับถ่าย ร้อยละ 10.1 6.ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ร้อยละ 5.9 7.คิดว่าทารกอาจหิวน้ำ คอแห้ง ร้อยละ 4.1 8.ทารกกินนมผสม ร้อยละ 3.7 9.ป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้า ร้อยละ 2.7 10.ให้กินน้ำเมื่อมีอาการสะอึก ร้อยละ 2.7 11.ได้รับคำแนะนำจากหมอ พยาบาล ร้อยละ 2.1 12.คิดว่าการกินน้ำบำรุงสายตา ร้อยละ 2 13.มีคนแนะนำ ร้อยละ 2 14.ทารกกินยา ร้อยละ 1.9 15.ทารกเริ่มกินอาหารแล้ว ร้อยละ 1.6 และ 16.อื่นๆ ร้อยละ 4.3

“ ถ้าถามว่าห้ามกินน้ำเด็ดขาดหรือไม่ จะทำให้อันตรายมากขนาดไหน จริงๆ ก็ไม่ถึงขั้นรุนแรง เพียงแต่การกินน้ำจะส่งผลเสียหลายด้าน ยิ่งดื่มน้ำไม่สะอาดก็อาจทำให้ท้องร่วง ติดเชื้อจากน้ำที่สะอาดไม่เพียงพอ  ที่สำคัญจะทำให้ทารกกินนมแม่ได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นจากการกินนมแม่ลดลงจนถึงขั้นขาดสารอาหารได้     รวมทั้งยังทำให้แม่น้ำนมลดลง หากให้ลูกกินน้ำแทนนมแม่” พญ.อัมพร กล่าว

เมื่อถามว่าแล้วจะทำอย่างไรเพราะหลายครั้งอากาศร้อน หรือลูกมีอาการสะอึกอาจต้องให้ดื่มน้ำ พญ.อัมพร อธิบายว่า จริงๆมีวิธีให้ลูกกินอย่างถูกต้องก่อนอายุ 6 เดือน  ได้แก่  1. เราสามารถให้นมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้น้ำหรืออาหารอื่น เพราะนมแม่มีน้ำผสมอยู่มากกว่า 80% ลูกจึงได้สารอาหารที่จำเป็นและน้ำเพียงพอจากการกินนมแม่อย่างเดียว 2.เมื่อลูกสะอึก ปากแห้ง เหมือนหิวน้ำ ให้นมแม่แทนให้น้ำ 3.เมื่อลูกป่วยต้องกินยา ให้ลูกกินยา วิตามินในช่วง 6 เดือนแรกได้ตามจำเป็น 4.หากลูกจำเป็นต้องกินนมผง ไม่จำเป็นต้องให้น้ำเพิ่ม และ 5.ลิ้นเป็นฝ้า ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด

เห็นได้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนในสังคมควรตระหนักและช่วยกันทุกๆฝ่าย อย่างการจัดมุมนมแม่ ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงานก็ให้ความสำคัญมีการเชิญชวนผู้ประกอบการต่างๆ จัดมุมนมแม่ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการบีบเก็บนม โดยมีตู้เย็นสำหรับแช่นมที่บีบเก็บใส่ถุง เพื่อนำกลับไปให้ลูกกินที่บ้าน ซึ่งตัวเลขที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559-กรกฎาคม 2561 มีสถานประกอบการจัดตั้งมุมนมแม่จำนวน 1,745  แห่ง มีลูกจ้างใช้บริการมุมนมแม่จำนวน 11,159 คน และในปีนี้ก็เพิ่มอีก 100 แห่ง และจะขยายไปเรื่อยๆ ล่าสุดเห็นว่าจะมีการเสนอลดหย่อนภาษีให้กับสถานประกอบการที่จัดตั้งมุมนมแม่ด้วย คงต้องรอทางกระทรวงการคลังออกมาประกาศ เพราะอย่าลืมว่า นมแม่คือ รากฐานของชีวิต เมื่อลูกมีพัฒนาการสมวัย สุขภาพดี สติปัญญาเยี่ยม ย่อมเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image