เริ่มแล้ว! ผู้ประกันตนรักษาโรคหัวใจที่ รพ.จุฬาภรณ์

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ได้เห็นชอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ในการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์ ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดแก่ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาภรณ์ นั้น ล่าสุด ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว สามารถเข้ารับการรักษาได้ใน รพ.จุฬาภรณ์ โดยจะดำเนินการเป็นโครงการนำร่องเป็นระยะเวลา 1 ปี

“สปส.จะมีการทำความตกลงกับ รพ.จุฬาภรณ์ ในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ เพื่อให้บริการผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดตามแผนการรักษาที่ได้มาตรฐาน สะดวก และปลอดภัย สามารถลดระยะเวลารอคอยการรักษา ลดอัตราการเสียชีวิต หรือพิการของผู้ประกันตนได้ โดย สปส.จะรับผิดชอบจ่ายค่าบริการเป็นแบบเหมาจ่ายต่อครั้ง ตามแผนการรักษา (Package) 7 รายการ ประกอบด้วย 1.การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ 2.การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน 3.การศึกษาสรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ และการจี้ไฟฟ้าหัวใจ 4.การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ไฟฟ้าในการสร้างภาพ 3 มิติ 5.การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรชนิดสองห้อง 6.การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจถาวร และ 7.การใส่เครื่องสมานฉันท์หัวใจในภาวะหัวใจล้มเหลว” นพ.สุรเดช กล่าว

สำหรับแนวปฏิบัติการเข้ารับบริการโรคหัวใจและหลอดเลือดของผู้ประกันตนใน รพ.จุฬาภรณ์ นั้น สถานพยาบาลตามสิทธิการฯ ที่ผู้ประกันตนเลือกสามารถส่งตัวเข้ารับการรักษาใน รพ.จุฬาภรณ์ โดยสถานพยาบาลที่ทำการส่งต่อหรือผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย และไม่เสียค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ซึ่ง รพ.จุฬาภรณ์ จะเป็นผู้ยื่นเบิกค่ารักษาตามแผนการรักษา และค่ารายการอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาโดยตรงกับ สปส. และหากมีการส่งตัวกลับไปรักษาต่อเนื่อง ยังสถานพยาบาลตามสิทธิฯ ของผู้ประกันตน รพ.จุฬาภรณ์ จะเป็นผู้ประสานเพื่อให้เกิดความสะดวกให้กับผู้ประกันตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image