ทำความเข้าใจ ‘ไบโพลาร์-อารมณ์สองขั้ว’ จิตแพทย์ขอโซเชียลอย่าถือสา-ตอบโต้กรณี ‘เสก โลโซ’

จากกรณีที่ เสก โลโซ หรือ นายเสกสรรค์ ศุขพิมาย นักร้องชื่อดังไลฟ์สดผ่านมือถือต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง แทบทุกวัน จนทำให้สังคมต่างตั้งคำถามว่าสาเหตุที่เสกไลฟ์สดแบบไม่มีหยุดแบบนี้เกิดจากอาการป่วยหรือไม่ ซึ่งต่อมา เคนโด้ หรือนายเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร นักจัดรายการวิทยุ พิธีกรชื่อดัง ได้แสดงความคิดเห็นว่า ทราบจากทนายส่วนตัวของเสก โลโซ ว่าป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ และรักษามา 3 ปี แต่ไม่หายเพราะขาดวินัย จนจิตแพทย์ออกมาเตือนกรณีดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ถึงโรคไบโพลาร์ว่า หากป่วยจริงต้องรักษา และบรรดาผู้ใช้เฟซบุ๊กต่างๆ ไม่ควรแสดงความคิดเห็นในทำนองรุนแรงนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต โพสต์เฟซบุ๊กเพิ่มเติมว่า

จากกรณีของ คุณเสก โลโซ ที่ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กต่อเนื่องหลายวัน ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่าเป็นอาการทางจิตหรือไม่? ผมจะไม่ขอวินิจฉัยผู้ป่วยผ่านสื่อนะครับเนื่องจากผิดจรรยาบรรณทางการแพทย์

ผมมองว่าบทบาทของชาวโซเชียลเน็ตเวิกไม่ควรไปถือสาหรือตอบโต้มากกว่า ควรเน้นให้เค้าไปรับการรักษานั่นจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย แต่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบมากกว่านั้นคือ ญาติพี่น้องของ คุณเสก โลโซ ที่ต้องพาไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่สถานพยาบาลที่คุณเสก โลโซ รับการรักษาควรติดต่อญาติพี่น้องหากเห็นการ Live แบบนี้ ควรติดต่อประสานญาติพี่น้องให้รีบส่งผู้ป่วยรักษาโดยเร็วที่สุด

Advertisement

จากกรณีนี้ผมจึงขอใช้โอกาสให้ความรู้ต่อสังคมเรื่องโรคไบโพลาร์ ดังนี้ (Bipolar disorder) โรคดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มโรคทางด้านอารมณ์ผิดปกติ กลุ่มเดียวกับโรคซึมเศร้า แต่โรคไบโพลาร์จะมีลักษณะอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานสลับกับอารมณ์ซึมเศร้าอีกช่วงหนึ่ง พบได้บ่อยจากประชากรทั่วโลก ประมาณร้อยละ 1-2 ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคไบโพลาร์ นั้น เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการอันดับที่ 6 ของโลก

สาเหตุโดยส่วนใหญ่มาจากปัจจัยทางพันธุกรรมเมื่อสอบถามประวัติผู้ป่วยมักจะพบว่ามีคนในวงศ์ญาติป่วยเป็น โรคไบโพลาร์ ซึ่งลูกหลานมีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ได้มากกว่าคนทั่วไป รวมถึงความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ เช่น การสูญเสีย ความล้มเหลวในชีวิต เหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่นกัน

อาการสำคัญ ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ จะมีลักษณะอารมณ์ซึมเศร้า (Depression) และอารมณ์รื่นเริง (Mania) ที่ผิดปกติจากคนทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนี้

Advertisement

ช่วงระยะอารมณ์ซึมเศร้า (Depression) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร ไม่มีสมาธิ แยกตัว เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เบื่อๆ เข้าก็รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ที่สำคัญที่สุดคือมีความคิดฆ่าตัวตาย

ช่วงระยะที่มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ (Mania) ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุข อารมณ์ดี ขยันกว่าปกติแต่ทำได้ไม่ดี นอนน้อยลง พูดคุยทักทายผู้อื่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ แม้แต่กับคนแปลกหน้า พูดมาก พูดเร็วคุยได้ไม่หยุด และ ไม่ชอบให้ใครมาขัดจะเกิดอารมณ์หงุดหงิด แล้วถึงขั้นใช้อารมณ์ก้าวร้าวได้

การดูแลรักษานั้น ในรายที่มีอาการก้าวร้าวรุนแรงควรพบจิตแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามลักษณะอาการของโรค ผู้ดูแลญาติหรือคนใกล้ชิดต้องมีวินัยให้ผู้ป่วยรับประทานยาตามแผนการรักษาจนครบตามกระบวนการที่จิตแพทย์กำหนด รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการกำเริบได้โดยการให้กำลังใจ และการสื่อสารที่ดีในครอบครัว ตลอดจน สังคมต้องเข้าใจ ให้โอกาส และลดอคติ มองผู้ป่วยไบโพลาร์ ไม่ต่างจากจากผู้ป่วย โรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ ทั้งนี้ หากพบบุคคลที่มีลักษณะคล้ายกับผู้ป่วยไบโพลาร์ หรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าว สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมงครับ

สำคัญที่สุดคือพวกเราต้องช่วยกัน

สอดส่อง มองหา : ต้องสังเกตว่าใครเป็นบุคคลที่มีปัญหา เหล่านี้พวกเขาได้รับคำปรึกษา จากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ จะสามารถทำให้เค้าทุเลาจากโรคและยังช่วยกันป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับตนเองหรือคนรอบข้างได้

ใส่ใจ รับฟัง : พร้อมช่วยเหลือและการใช้สัมผัส เช่น การจับหรือสัมผัสแขนที่นุ่มนวลพร้อมกับบอกว่า ให้ใจเย็น ภาษากายจะสามารถช่วยทำให้เขาสงบลงให้ได้ รวมทั้งได้รับความไว้วางใจที่จะรับความช่วยเหลือต่อไป

ส่งต่อ เชื่อมโยง : โดยเฉพาะกับบุคคลที่บ้าน ซึ่งคนใกล้ชิดและผูกพันจะสามารถทำให้สงบลงได้หรือถ้าจำเป็นก็เชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image