สกู๊ปหน้า 1 : พระอัจฉริยภาพ ร.4 150 ปี ‘หว้ากอ’

วันนี้เมื่อ 150 ปีก่อน หรือ ตรงกับ 18 สิงหาคม 1868 หรือ พ.ศ.2411 คราวนั้นมีปรากฏการณ์ สุริยุปราคา ที่ถือได้ว่า เป็นประวัติศาสตร์แห่งการเกิดสุริยุปราคา

นั่นคือ เป็นสุริยุปราคาครั้งที่ยาวนานที่สุดใน 300 ปี เป็นสุริยุปราคาที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงทอดพระเนตรและทรงคำนวณได้อย่างถูกต้องแม่นยำเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ถือเป็นยุคบุกเบิกที่ประเทศไทยเข้าสู่การเรียนรู้ การค้นคว้าหาความจริงทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สยามเปิดกว้างในด้านการต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการเข้าออกของคณะทูตชาวยุโรปหลั่งไหลเข้ามาภายในกรุงศรีอยุธยาและนำเอาความรู้ทางด้านดาราศาสตร์เข้ามาเผยแพร่ด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการโหราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
เรื่องราวเกี่ยวกับโหราศาสตร์นั้น เกี่ยวกับสถิติการเคลื่อนที่ของวัตถุบนท้องฟ้า เช่นเดียวกับศาสตร์ด้านดาราศาสตร์

พระองค์ทรงมีมิตรไมตรีที่ดีกับ พระสังฆราช ปัลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส ที่นอกจากจะมีความรู้ในด้านภาษาเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีความรู้ในด้านดาราศาสตร์เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

Advertisement

และพระองค์ก็ทรงรับทราบเรื่องปรากฏการณ์สุริยุปราคาจากพระสังฆราช ปัลเลอกัวซ์ และที่น่าสนใจไม่น้อยนั้นคือ จากการคำนวณคราสนั้นอยู่ใกล้ประเทศสยามมาก พระองค์จึงนำเรื่องราวเกี่ยวกับสุริยคราสในครั้งนี้มาคำนวณด้วยพระองค์เอง

พระองค์ได้พบว่าการคำนวณของฝรั่งคลาดเคลื่อนจากที่พระองค์ได้คำนวณเอาไว้

Advertisement

สุริยุปราคาเมื่อ พ.ศ.2411 นับว่าเป็นสุริยุปราคาครั้งที่ยาวนานที่สุดในรอบ 300 ปีคราสในครั้งนั้นเริ่มต้นจากเขตประเทศเอธิโอเปียขึ้นเหนือไปยังบริเวณดินแดนของอาณาจักรออตโตมัน ก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนผ่านทะเลอาหรับไปยังอินเดีย ที่สมัยนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนจะลงมาทางใต้เข้าสู่คอคอดกระ อาณาจักรพม่า และเข้าสู่เขตสยาม เวียดนาม เกาะบอร์เนียว และสิ้นสุดที่ทางใต้ของเกาะนิวกินี ใจกลางคราสอยู่ที่บ้านหว้ากอ ต.คลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นั่นเอง

พระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศ กลายเป็นที่รู้จักของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติไปทันที เมื่อพระองค์ทรงคำนวณได้อย่างมิมีผิดเพี้ยนกับปรากฏการณ์การเกิดสุริยุปราคา

แม้ว่าการคำนวณของพระองค์จะเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้ถึง 2 ปี ด้วยกัน ทรงระบุได้ถึงเวลาที่เงาของดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์ เวลาที่จับเต็มดวง จนกระทั่งเวลาที่คลายออก

พิสูจน์แล้วว่าการคำนวณของพระองค์นั้นแม่นยำเหนือกว่าที่นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชาวต่างชาติให้เกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้นามสุริยุปราคาครั้งนี้ว่า The King of Siamžs eclipseŽ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงได้รับการยกย่องจากพสกนิกรชาวไทยในเวลาต่อมาว่า เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยอีกด้วย

ในวันที่ 18 สิงหาคม 2561 หรืออีก 150 ปีต่อมา นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ หว้ากอ ครบรอบ 150 ปี

รัฐมนตรี วท.กล่าวว่า เพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญของปีในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ หว้ากอ ครบรอบ 150 ปี และยังได้ร่วมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย การจัดงานมหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ยังถือเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้แก่เยาวชนในภูมิภาคได้เข้าถึงและใกล้ชิดวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มที่ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย วิทย์สร้างคนŽ ไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้เด็กๆ เยาวชนและประชาชนในภูมิภาคได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ อันจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมืออาชีพในอนาคต

สุวิทย์ เมษินทรีย์

”ครั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้ยกขบวนความรู้ นิทรรศการเปี่ยมไปด้วยสาระความรู้และกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์มากมายจากงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคกลาง มาไว้ในงานมหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ ภายใต้ชื่อ เมืองจุดประกายความคิด วิทย์สร้างคนž ซึ่งจะเป็น 1 ใน 8 เมืองแห่งการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่ภูมิภาค และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ เยาวชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดใกล้เคียงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ จากการเรียนรู้ครั้งนี้ ซึ่งมีนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยž นำเสนอเรื่องราวที่ทรงใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ การสร้างความสัมพันธ์เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของปรากฏการณ์และความจริง ทำให้นานาอารยประเทศให้การยอมรับในสยามประเทศ”Ž นายสุวิทย์กล่าว

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ตั้งของอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศที่เหมาะสมกับการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระพิเศษของปีที่ครบรอบ 150 ปี สุริยุปราคา ณ
หว้ากอ ซึ่งการจัดงานมหกรรมเฉลิมพระเกียรติฯครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยส่งเสริมภาคการศึกษาของจังหวัดและภูมิภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และจะเป็นเวทีสำคัญสำหรับเด็ก เยาวชน นักศึกษา ได้มีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิดและการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ เตรียมพร้อมสู่การเป็นนักเทคโนโลยีและนวัตกรรุ่นใหม่ของประเทศในอนาคต

“อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ได้เตรียมความพร้อมพื้นที่ 485 ไร่ สำหรับการจัดงานครั้งนี้อย่างเต็มที่ อันจะช่วยให้เด็กๆ เยาวชน และนักศึกษา กศน.ที่มาร่วมงานได้เรียนรู้และสัมผัสกับนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ อย่างใกล้ชิด จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจนำความรู้ไปต่อยอดได้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการส่งเสริมการศึกษาระดับภูมิภาคและการเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกมิติ ที่จะช่วยสร้างคนและสังคมคุณภาพในระดับภูมิภาคไปสู่ความยั่งยืนของประเทศได้ในอนาคตŽ” นายการุณกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image