กรมอนามัยติดตามรพ.ทั้งรัฐ-เอกชน ไร้รับของจากบ.นม ปฏิบัติถูกต้องตามพ.ร.บ.นมผง

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พญ.อัมพร  เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย  กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงานต่างๆ สถานพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560  เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเจตนารมณ์และสาระสำคัญของกฎหมาย พร้อมการรับฟังปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานตามกฎหมาย และการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างล่าสุดได้ลงไปตรวจเยี่ยมที่จ.ขอนแก่น ซึ่งพบว่าโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฯอย่างดี แม้กระทั่งโรงพยาบาลเอกชน ได้ให้ความร่วมมือไม่แพ้หน่วยงานรัฐ โดยมีแผนการดำเนินการในการให้ความสำคัญกับนมแม่ ทั้งการให้ความรู้บุคลากรภายในโรงพยาบาล การให้ความรู้แก่คู่สามีภรรยาตั้งแต่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงคลอด และหลังคลอด ให้ทารกรับนมแม่จากเต้า

“ที่สำคัญหลายแห่งมีการสื่อสารระหว่างบุคลากรและผู้บริหาร ถึงความสำคัญที่จะไม่มีการรับสนับสนุนสิ่งของ หรืองบประมาณการจัดประชุมจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารกหรือตัวแทน รวมถึงไม่มีการอนุญาตให้ติดต่อหญิงตั้งครรภ์และแม่หลังคลอด ซึ่งทุกกระบวนการจะเน้นให้บริการแม่และเด็กของโรคพยาบาลโดยการให้นมแม่เป็นพื้นฐาน” พญ.อัมพร กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  การสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนที่ถูกต้องเกี่ยวกับพ.ร.บ.ฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการให้ข้อมูลข่าวสารและปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในจุดที่เป็นกังวล เพราะอาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการกระทำผิดหรือการละเมิดกฎหมายยังไม่พบ ประกอบด้วย 1.ผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารกได้จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์ แม่หรือบุคคลในครอบครัวที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกและเด็กเล็ก และมีการให้ตัวอย่างอาหารสำหรับทารก พร้อมของขวัญ เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ ถือเป็นการละเมิดและกระทำผิด

พญ.อัมพร กล่าวว่า 2. ผู้ผลิตหรือตัวแทน ที่มีความประสงค์จะมอบสิ่งของ อุปกรณ์หรือของใช้แก่หน่วยบริการสาธารณสุขโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะนั้นสามารถกระทำได้ ซึ่งจุดนี้มีการกำชับภายในสถานพยาบาลต่างๆ ว่าต้องระวังอย่าให้มีชื่อ ตรา หรือสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นว่าเป็นอาหารสำหรับทารกหรือสื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับอาหารสำหรับทารก และ3. กฎหมายอนุญาตให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย ทำการบริจาคอาหารสำหรับทารกและอาหารสำหรับเด็กเล็กได้ ซึ่งปัจจุบันจากการลงพื้นที่ยังไม่พบการกระทำผิด ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image