วัดใจ สนช.เดินหน้า ‘กัญชาทางการแพทย์’ ความหวังใหม่ผู้ป่วย

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพลŽ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “กัญชา ประโยชน์หรือโทษ” ระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคมที่ผ่านมา จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค รวม 1,250 หน่วยตัวอย่าง ส่วนหนึ่งของผลสำรวจได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีกฎหมายเฉพาะ

ให้ใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคโดยถูกกฎหมายในอนาคต พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.40 เห็นด้วย เพราะกัญชามีประโยชน์หลายอย่าง น่าจะใช้ในการรักษาโรคได้ รองลงมา ร้อยละ 24.96 ไม่เห็นด้วย เพราะกังวลในเรื่องการควบคุมการใช้ ฯลฯ

ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ในการควบคุมยังมีคำถาม ตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีแนวทางในการควบคุมให้รัดกุม เพราะไม่เช่นนั้นไทยจะเสียโอกาสทางการแพทย์ ซึ่งในไทยก็ไม่ใช่ไม่เคยมี เพราะปัจจุบันมอร์ฟีนก็ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์เช่นกัน

ที่น่ากังวลคือ การจะเดินหน้ากัญชาทางการแพทย์ได้นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาในมนุษย์ แต่ด้วยกฎหมายยาเสพติดในปัจจุบันไม่อนุญาต เปิดให้เพียงการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการเท่านั้น

Advertisement

กระทั่งเริ่มมีความหวังเมื่อกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสามารถศึกษากัญชาในมนุษย์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งตามโรดแมปขั้นตอนการออกกฎหมาย คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือนพฤษภาคม 2562 แต่ไม่นานมานี้ทางคณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องนี้ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอขยายการพิจารณาออกไปอีก 90 วัน งานนี้ผู้ป่วยมีลุ้นว่าจะได้ใช้จริงเมื่อไร ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่งตั้งให้ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นประธานก็ยังคงทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

นพ.โสภณ เมฆธน

นพ.โสภณกล่าวว่า จริงๆ สารสกัดจากกัญชาหลายๆ ประเทศเดินหน้าไปมาก มีผลพิสูจน์ว่าใช้ทางการแพทย์ได้ดี ซึ่งเราก็มีความหวัง เนื่องจากที่ผ่านมาเคยเสนอเรื่องสารสกัดกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์กับทางคณะกรรมาธิการก็มีแนวคิดไปในทางที่ดี เราก็หวังว่าจะพิจารณาได้ก่อนจะมีการเลือกตั้งเพื่อให้ทันสภานี้ ส่วนระหว่างนี้ทางคณะกรรมการก็จะต้องเดินหน้าตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ ซึ่งคณะกรรมการที่ตนเป็นประธาน ประกอบไปด้วยคณะย่อย 4 ชุด คือ 1.คณะทำงานเพื่อการพัฒนาการปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ โดยให้องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ 2.คณะทำงานเพื่อพัฒนาสารสกัดและการตรวจวิเคราะห์สังเคราะห์ โดยองค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานหลักเช่นกัน 3.คณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน และ 4.คณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมในการศึกษาวิจัยและการใช้ทางการแพทย์ ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

Advertisement

นพ.โสภณเล่าถึงการทำงานที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการได้มีการประชุมเกี่ยวกับแนวทางเพื่อใช้ทางการแพทย์ คือ 1.การรักษามะเร็งจากการใช้ยาเคมีบำบัด และมีอาการคลื่นไส้อาเจียน 2.ลมชัก โดยเฉพาะในเด็กที่ยาอื่นเอาไม่อยู่ แต่เมื่อใช้สารสกัดจากกัญชา ทำให้คุมและให้มีชีวิตดีขึ้นมาได้ 3.พวกกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มีอาการปวด ปลอกประสาทอักเสบ และ 4.อาการปวดแบบเรื้อรัง ไม่สามารถใช้ยาอย่างอื่นได้ โดยไม่สามารถจัดการต้นเหตุได้ แต่เมื่อมีการใช้กัญชาผลการศึกษาพบว่าดีขึ้นร้อยละ 50 แต่ไม่ใช่ว่ามีแค่ 4 โรคเท่านั้น ยังมีโรคอื่นๆ ซึ่งทางวิชาการมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากสามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมได้ เพราะจากประสบการณ์บางคนบอกว่า รักษาโรคสมองเสื่อม พาร์กินสันได้ แต่ต้องมีการศึกษามากขึ้น ซึ่งประเด็นพวกนี้เราไม่ทิ้ง ต้องนำไปศึกษากัน ส่วนผลข้างเคียง แน่นอนว่าในยาทุกชนิดมีหมด แต่เราต้องมาชั่งน้ำหนักกันว่า ประโยชน์หรือผลข้างเคียงอะไรมีมากกว่ากัน และป้องกันผลข้างเคียงได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องมีการติดตามผล อย่างยาแผนปัจจุบันบางชนิดออกมาแรกๆ ดี แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ต้องยกเลิกทะเบียนก็มี

“ในเรื่องผลทางการรักษามีการถกเถียงนำเสนอข้อมูลกันเยอะมาก เนื่องจากจะมีข้อมูลทางวิชาการมาก ซึ่งในอนาคตจะต้องมาวางกรอบการศึกษาวิจัยว่าใช้แล้วมีประโยชน์มากน้อยอย่างไร ส่วนเรื่องการควบคุมการศึกษาวิจัยจะมีทาง อย.เป็นผู้วางระบบดังกล่าว โดยควบคุมตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การปลูก การสกัด จนนำไปถึงการใช้ว่าจะทำอย่างไร อย่างเรื่องการศึกษาวิจัยเพื่อทำเรื่องการปลูก กับการสกัด มีแนวทางออกมาแล้ว เพื่อคุมเข้มไม่ให้ใช้ไปในทางที่ผิด” ประธาน อภ.กล่าว

ปัญหา คือ มีกระแสข่าวว่ายังมีบางกลุ่มไม่ยอมรับให้ใช้กัญชารักษาโรคในการรักษาแรกๆ โดยให้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย นพ.โสภณให้ข้อมูลว่า ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุป เพราะอย่างไรเสียตามกรอบก็ต้องดำเนินการต่อไป และเรื่องนี้ก็ยังเปิดกว้างในเรื่องของการรักษากลุ่มโรคต่างๆ เพียงแต่บางกลุ่มอาจกังวลเรื่องผลข้างเคียงว่าจะทำให้ติดหรือไม่ หรือหากใช้ในเด็กมากๆ จนโตจะมีปัญหาทางจิตเวชหรือไม่ ซึ่งเราก็ค่อนข้างเห็นด้วยว่าไม่ควรใช้ในเด็ก และต้องห้ามการใช้แล้วไปขับรถ เนื่องจากมีผลทำให้เชื่องช้า ซึ่งจุดนี้เรามีระบบในการควบคุมการใช้อยู่ เรียกว่ามีระบบเข้มงวดมาก

สำหรับองค์การเภสัชกรรมเป็นอีกหน่วยงานสำคัญในการเดินหน้าเรื่องนี้ นพ.โสภณเล่าว่า ขณะนี้ในเรื่องของการทำสารสกัด อภ.ได้ขออนุญาตไปทาง อย. เพื่อขอของกลางมาเพื่อสกัดสาร ซึ่งของกลางมีหลายพันธุ์ หากเอามาแล้วก็จะนำมาสกัดว่าของกลางแต่ละชนิดมีสารสำคัญอะไรบ้าง ปริมาณเท่าไร มีการปนเปื้อนพวกยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงหรือไม่ และเพื่อให้รู้ว่าแต่ละชนิดมีสารสำคัญในกัญชาอย่างไร ซึ่งสารหลักๆ คือ สารแคนนาบิไดอัล (Cannabidiol) หรือที่เรียกว่า สาร CBD และสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือสาร THC

“เมื่อเราทราบว่าของกลางแต่ละชนิดมีสเปกอย่างไร ก็จะได้รู้ว่าจะสกัดเป็นยาได้อย่างไรในอนาคต ยกตัวอย่าง หากตามกรอบของร่างกฎหมายยาเสพติดประกาศใช้ได้เดือนพฤษภาคม 2562 แหล่งแรกผมคิดว่าต้องใช้ของกลาง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7 ตัน/ปี โดยเราจะเอามาสกัดเพื่อศึกษาวิจัยในคนป่วย ซึ่งแรกๆ ก็ต้องอยู่ในกรอบของการศึกษาวิจัยก่อน หากมีการศึกษาวิจัยเก็บข้อมูลตามขั้นตอนก็อาจขึ้นทะเบียนได้ในอนาคต ทุกอย่างต้องเป็นขั้นเป็นตอน” นพ.โสภณกล่าว และว่า สำหรับกฎหมายยาเสพติดที่บังคับใช้ ณ ปัจจุบันอนุญาตให้ศึกษาวิจัย ปลูกและสกัดสารออกมาได้ แต่ห้ามใช้ในคน ซึ่งเราใช้กฎหมายปัจจุบันอยู่ โดยขออนุญาตไปทาง อย.ในการขอของกลางมาสกัดเพื่อศึกษาวิจัย แต่ไม่ได้ทดลองในมนุษย์ ส่วนเรื่องปลูกก็เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบันเช่นกัน

อภ.กำลังเตรียมพร้อมในการนำตึกเก่าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน 2 ตึกมารีโนเวตเพื่อทำเป็นโรงเรือน และที่สกัดสารกัญชา โดยตึกแรกเป็นตึก 2 ชั้น จะปลูกและสกัดอยู่ในตึกเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กำลังดูสเปกของเครื่องที่จะนำมาสกัดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คาดว่าจะเป็นระบบเอทานอลและกลั่นในระบบเย็น ส่วนอีกตึกจะทำตรงดาดฟ้า เป็นที่กว้างเพื่อนำมาใช้พัฒนาสายพันธุ์ ตรงนี้จะเน้นเป็นสถานที่ปลูก โดยทั้งหมดจะทำเป็นระบบปิดเพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่ว่าใครจะเข้า/ออกได้ง่ายๆ จะมีกล้องวงจรปิด มีการสแกนลายนิ้วมือระบุตัวตน เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่าน่าจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท คิดว่าจะใช้งบประมาณของ อภ.เอง เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ขอฝากความหวังกับทาง สนช.ในการพิจารณากฎหมายยาเสพติดใหม่ เพื่อโอกาสของผู้ป่วยทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image