กรมแพทย์แจงเหตุไม่โหวตเลิกใช้สารเคมี3ชนิด เพราะตัวแทนไม่เข้าประชุมคกก.วัตถุอันตรายฯ

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีข้อถกเถียงประเด็นการยกเลิกหรือไม่ยกเลิกใช้สารเคมีในทางการเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ว่า กรมการแพทย์ได้มีการประชุมปรึกษาในประเด็นดังกล่าว และสรุปผลว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น มีพิษและอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจริง และสนับสนุนให้มีการเลิกใช้เช่นเดียวกับ สธ. และยืนยันว่าไม่ได้ออกเสียงสนับสนุนให้มีการใช้สารเคมีดังกล่าวตามที่มีในข่าวแต่อย่างใด

“ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งที่ 30-1/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 มีหลักฐานคือ รายงานการประชุม ระบุว่าอธิบดีกรมการแพทย์ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ข้อเท็จจริงนั้น ในการประชุมคณะกรรมการที่ผ่านมา อธิบดีกรมการแพทย์ได้มอบหมายให้โรงพยาบาล (รพ.) นพรัตนราชธานี โดย นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.นพรัตนราชธานี เข้าประชุมแทนมาโดยตลอด เพื่อเสนอความคิดเห็นต่างๆ แต่ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 30-1/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 นั้น นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ ติดงานที่สำคัญหลายงาน ไม่สามารถหาตัวแทนเข้าประชุมได้ จึงไม่ได้เข้าประชุม และเนื่องจากไม่ทราบวาระการประชุม จึงไม่ทราบว่าจะมีการออกเสียงเกี่ยวกับการห้ามหรือไม่ห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม นพ.กิติพงษ์พยายามย้ำถึงจุดยืนในที่ประชุมเสมอว่า สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ตัว เป็นสารอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ถ้าสามารถยกเลิกได้จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดตามหลักการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

ด้าน นพ.กิติพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการของกรมการแพทย์ ขอยืนยันสนับสนุนการเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารอันตรายทั้ง 3 ชนิด สำหรับหลักการในการให้เลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ เนื่องจากสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เป็นสารอันตรายต่อสุขภาพ แม้จะจัดให้เป็นสารอันตรายประเภท 3 ให้มีการเฝ้าระวังการใช้

“ที่ต้องยกเลิกเพราะ แม้จะให้เฝ้าระวังการใช้ ก็ยังมีปัญหาตามมาเรื่อยๆ คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางสุขภาพที่อธิบายไม่ได้ในหมู่ชาวนาและประชาชนทั้งโรคระบบประสาท ปวดศีรษะเรื้อรัง สมองเสื่อม หรือโรคพาร์กินสัน ซึ่งยังไม่คิดถึงพิษเฉียบพลันจากการหยิบกินผิด ทั้งนี้ มีทั้งข้อวิจัยสนับสนุนและคัดค้านมาตลอดในเรื่องผลต่อสุขภาพ และการตกค้างในพื้นดิน แต่การที่จะระบุว่าสารตัวไหนทำให้เกิดโรคอะไรนั้น จะต้องใช้เวลานาน ซึ่งมีผลเสียต่อประชาชนเป็นอย่างมาก และเนื่องจากเรามีทางเลือกหลายทาง ทั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์ หรือยากำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายน้อยกว่า จึงน่าจะเลือกทางที่อันตรายน้อยที่สุด และเป็นไปตามหลักการ คือ การเลิกใช้สารทั้ง 3 ชนิด” นพ.กิติพงษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image