โซเชียลฯกระหน่ำ! พยาบาลแย้งกลับเภสัชฯ ไม่เคยอยากจ่ายยา แต่ภาระงานบังคับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการปรับแก้พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 โดยร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ มีประเด็นในการปรับแก้เพิ่มเติม อย่างเรื่องการให้บริษัทยาขึ้นทะเบียนยาทุกๆ 7 ปี ซึ่งเดิมไม่เคยมี แต่ประเด็นที่ถูกถกเถียงกันมาก คือ การให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้ในอนาคตจะต้องถูกควบคุมกำกับผ่านประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำให้องค์กรวิชาชีพเภสัชกรออกมาคัดค้าน และมองว่าจะเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นมาจ่ายยาหรือขายยาได้นอกเหนือจากเภสัชกร โดยเฉพาะในคลินิกเอกชนหวั่นไม่มีการควบคุม

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ได้มีการเผยแพร่ข้อความจากไลน์ของกลุ่มพยาบาลที่ทำงานในโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ถึงความเป็นจริงว่า ในโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลห่างไกล ไม่มีเภสัชกรประจำ และหากมีการควบคุม ประชาชนก็ต้องเดินทางไปรับยาข้ามจังหวัด จะยิ่งส่งผลกระทบหรือไม่ อาทิ

“พยาบาลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)จ่ายยา แทนเภสัชตลอด ถ้าไม่ผ่าน พ.ร.บ.นี้ผมว่าต้องเชิญเภสัชออกมาจ่ายยาเองเลยนะ พยาบาลเขาทำแทนคุณอยู่ตลอด ด้วยความที่เห็นว่าจนท.เภสัชขาดแคลน เขาทำด้วยความเมตตากรุณาต่อคนไข้ ด้วยความที่เห็นแก่พี่น้องประชาชนคนตาดำๆ คุณคิดบ้างนะ ถ้าคัดค้านไม่ให้พยาบาลจ่ายยา ต่อไปถ้าไม่มีใครจ่ายยาแล้วคนไข้จะไปรับยาจากใคร เพราะคุณคงไม่อยากมาอยู่ตามชนบท บ้านนอก  และนี่ก็เป็นการออกพ.ร.บ.ให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริง ให้มันถูกต้องกับสภาพความจริงในสภาพปัจจุบัน  เพื่อให้พยาบาลเขาทำภายใต้กรอบของกฎหมาย  มีกฎหมายรับรอง เพราะเขาทำให้คุณมานานแล้ว ทางเภสัชก็ไม่ต้องมาคัดค้านหรอกครับ สงสารพี่น้องประชาชนคนรากหญ้าบ้างสิครับ ยิ่งบางแห่งไกลจากโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอมาก เจ็บไข้ได้ป่วยทีไรก็ต้องไป รพ.สต.ใกล้บ้าน รับยาในสถานบริการใกล้บ้านซึ่งมีเพียงพยาบาลผู้ยอมทนอยุ่ในถิ่นทุรกันดาร….”

“เรื่องนี้เป็นการดูถูกวิชาชีพพยาบาลนะครับ เขาเรียนเรื่องยามาเหมือนกัน แต่อาจไม่เยอะเท่าเภสัช ปัจจุบันที่ รพ.สต. ที่่พยาบาลเขาทำๆกันอยู่ทุกวันนี้ เขาจ่ายยาแทนเภสัชทั้งนั้น  ไม่มีเภสัชคนไหนลงไปอยู่รพ.สต.หรอก แล้วจะไปคัดค้านไม่ให้เขาจ่ายยาทำไม เห็นพากันคัดค้านกันใหญ่หรือว่าอยากลงมาทำเอง ถ้าคัดค้านเภสัชต้องลงไปทำเองนะ  นี่ถ้าคิดสงสารพี่น้องประชาชนคนรากหญ้า ที่อยู่ห่างไกล ในถิ่นทุรกันดารก็ต้องให้พยาบาลเขาจ่ายยาคนไข้ได้ เพราะคนไข้เขาก็ตรากตรำลำบากในการเดินทางมารับยาในรพ.ในตัวอำเภอ คิดถึงสภาพความเป็นจริงบ้างนะครับ และการออกพรบ.ฉบับนี้เป็นการออกมาเพื่อให้พ.ร.บ.ที่เขาจ่ายยา ซึ่งเป็นงานที่เขาทำอยู่ในปัจจุบันได้จ่ายยาแบบถูกต้อง มีกฎหมายคุ้มครอง ให้ทำได้”

Advertisement

นอกจากนี้ ในเพจเฟซบุ๊ก “พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข” มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เช่นกัน อาทิ

“ฝากให้คิดครับ…….ถึงพี่น้องพยาบาลเราทั้งหลายครับ ทั้งพี่น้องบนตึกทั้งพี่น้อง รพ.สต. ว่าเราควรคืนหน้าที่เกี่ยวกับยา ให้เขาไหม เราไปทำหน้าที่ care ผู้ป่วยให้ดีที่สุดตามหน้าที่ของเราไหมเรื่องจ่ายยา ผสมยาก็ให้เขามาทำเอง ขออภัยพี่น้องเภสัชที่ทำงานร่วมกัน ผมไม่ได้ว่าท่าน”

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ นายสราวุฒิ ที่ดี พยาบาลปฏิบัติการ คลินิคหมอครอบครัวโรงพยาบาลปราสาท จ.สุรินทร์ และอดีตประธานเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว กล่าวว่า  สืบเนื่องจากเรื่อง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ หลักๆคือ จะให้บุคลากรด้านสุขภาพหลายวิชาชีพ สามารถจ่ายยาได้ ภายใต้ข้อจำกัดและสภาการพยาบาลก็ออกมาขานรับจุดนี้ เนื่องจากคงมองถึงผลประโยชน์ของสมาชิกในองค์กร เพราะปัจจุบันในทางปฏิบัติเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องยามากมายเหลือเกิน แต่ในทางกฎหมายวิชาชีพ แทบไม่มีอะไรคุ้มครองเราเลย และก็มีคนของวิชาชีพหนึ่งที่ออกมามาโพสต์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าพยาบาลเรียนเภสัชวิทยามาน้อย ไม่สมควรมีอภิสิทธิ์เรื่องยาเพิ่มขึ้น

นายสราวุฒิ กล่าวอีกว่า การเรียนมาแค่ 3 หน่วยกิตไม่เพียงพอหรอกครับ ถ้าเทียบกับ 200 หน่วยกิต มันเทียบกันไม่ได้เลยครับ และจากที่ไปย้อนเปิดดูหลักสูตร แม้แต่แพทย์เอง ก็เรียนเภสัชวิทยาไม่ถึง 200 หน่วยกิตเช่นกันนะครับ เพราะการเรียนการสอน มันก็มุ่งเน้นไปตามวิชาหลักของแต่ละวิชาชีพ ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษา จบออกมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีคุณภาพตรงตามสาขาที่เรียนมา แต่ก็มีบางท่าน ที่ออกมาบอกว่า พยาบาลเรียนเรื่องยามาแค่ 3 หน่วยกิต ไม่เพียงพอต่อการจ่ายยา ถ้าเช่นนั้น ท่านที่บอกว่าเรียนมาถึง 200 กว่าหน่วยกิต ควรออกมาจากแค่ในห้องยา มาเตรียมยา ผสมยา ให้กับคนที่เรียน 3 หน่วยกิตหน่อยได้มั้ยล่ะครับ อันที่จริง คนที่เรียนแค่ 3 หน่วยกิต ไม่ได้อยากจะมาทำอะไรแทนคนที่เรียนมาตั้ง 200 หน่วยกิตเลย  แต่ว่าเนื่องจากคนที่เรียน 200 หน่วยกิตไม่ออกมาทำไงครับ คนที่เรียน 3 หน่วยกิต ถึงต้องทำ แต่คนที่เรียน 200 หน่วยกิตก็นิ่งเฉยมาตลอด เหมือนทองไม่รู้ร้อน แต่ทีนี้ พอจะมีกฎหมายออกมา ครอบคลุมจุดนี้ เอื้อประโยชน์แก่สิ่งที่คาบเกี่ยวทางวิชาชีพ คนที่เรียน 200 หน่วยกิต กลับออกมา แสดงจุดยืน และบอกว่า แค่ 3 หน่วยกิตมันไม่พอ ที่จะมาทำตรงนี้ มันฟังดูขัดแย้งมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงานในกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน

” คนเรียน 3 หน่วยกิต ทำงานแทน คน 200 หน่วยกิตมาหลายสิบปีแล้วครับ ตนว่าที่จริง คนที่เรียน แค่ 3 หน่วยกิต เค้าคงต้องการทำแค่เรื่อง nursing care เป็นหลัก ตามวิชาชีพ พวกเราชาวพยาบาล ไม่ได้มีใครอยากไปเปิดร้านขายยา หรือจ่ายยาเองหรอกครับ เพราะสิ่งที่เรียนมา  เด่นชัดอยู่แล้วว่า ขอบข่ายการทำงานอยู่ตรงไหน และงานของพยาบาลส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ Nursing care เป็นหลักอยู่แล้ว ไปดูพี่ๆพยาบาลเวชปฏิบัติ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)  พวกเขาต้องสั่งยา จ่ายยาให้ผู้ป่วยเบาหวาน-ความดัน เพื่อกระจายความแออัดของผู้ป่วยออกจาก รพ. และผสมยาเองมานานแล้ว ออกไปช่วยเค้าหน่อยสิครับ ผู้ป่วยระยะมะเร็งระยะสุดท้ายที่ต้องให้ยาทาง Syring driver ที่บ้านใคร ผสมยา  อยากให้ไปดูหน่อย เรื่องนี้เราควรให้เรื่เป็นเรื่องขององค์กรวิชาชีพ เอามาตรฐาน หลักการ และความเป็นจริงที่ทำอยู่มาคุยกันโต้แย้งกันไป ไม่ใช่มาเหยียดหยามวิชาชีพกันแบบนี้นะครับ”นายสราวุฒิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image