ชัดๆ! ข้อเท็จจริง 2 กลุ่ม ‘เภสัชกร-พยาบาล’ กับกรณีแก้ไข พ.ร.บ.ยาฯ

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงเดินหน้าแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ แทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เนื่องจากมีการรวบรวมความคิดเห็น โดย อย.ระบุว่า จากการพิจารณาเห็นชอบในเนื้อหาทั้งหมดร้อยละ 90 ส่วนอีกร้อยละ 10 ไม่เห็นชอบ โดยเฉพาะประเด็นข้อกังวลให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้ ไม่ใช่แค่เภสัชกร ซึ่งข้อเห็นต่างดังกล่าวจะไว้ไปพิจารณาและตั้งกรรมการหารือในอนาคต จากนั้นค่อยนำมาเพิ่มเติมในกฎหมายนั้น

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ภก.จิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงเช่นนี้ เนื่องจากประเด็นที่กังวลจะมีการค้างไว้ และตั้งคณะกรรมการเฉพาะมาพิจารณา โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือ ที่สำคัญทางเลขาธิการ อย.บอกว่าไม่เร่งรีบ ไม่ตั้งกรอบเวลา ซึ่งเรื่องนี้ต้องค่อยๆ คิด เร่งรีบไม่ได้ ตนก็มองว่าเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่พยาบาลกังวลและออกมาชี้แจงถึงการทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ไม่มีเภสัชกรนั้น น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่เคยค้านเรื่องการจ่ายยาใน รพ.สต. เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกฎหมายวิชาชีพรองรับ และกรอบเภสัชกรก็ไม่มีใน รพ.สต. เพราะจำนวนเภสัชกรไม่ได้มาก ทั้งประเทศมีประมาณกว่า 30,000 คน อยู่ใน รพ.รัฐเพียงหลักหมื่นเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อสงสัยว่าที่คัดค้านเพราะกังวลเรื่องวิชาชีพอื่นมาเปิดร้านขายยา ภก.จิระกล่าวว่า การเปิดร้านขายยาทุกวันนี้มีกฎหมายควบคุม อย่างร้านขายยาประเภท 1 จะต้องมีเภสัชกรประจำ ส่วนร้านขายยาประเภท ขย.2 หรือร้านขายยาบรรจุเสร็จจะให้มีผู้ปฏิบัติการ ซึ่งเป็นได้ทั้งเภสัชกร พยาบาล หรือวิชาชีพที่อนุญาตอยู่แล้ว ปัจจุบันมีอยู่ 3,800 ร้าน ซึ่งปิดโควต้าในการขอไปนานแล้ว จึงไม่ใช่เหตุผลที่คัดค้าน แต่ที่ค้าน เพราะหวั่นปัญหาในคลินิกเอกชน อาจมีวิชาชีพอิสระอื่นๆ มาเปิด โดยเป็นวิชาชีพเดี่ยวๆ ไม่มีแพทย์ควบคุม ตรงนี้น่าห่วง

นางวราพร สุดบุญมา เลขานุการพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จริงๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะข้อเท็จจริงไม่ว่าจะมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นี้หรือไม่ ทางพยาบาลวิชาชีพต่างก็ต้องทำงานเหมือนเดิม เนื่องจากทุกวันนี้มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีกฎหมายมารองรับชัดเจน แต่ทำงานภายใต้กรอบวิชาชีพพยาบาล อย่างหากจบพยาบาลทั่วไป ก็จะจ่ายยาสามัญประจำบ้าน ยาทั่วไปได้ แต่หากจบพยาบาลเวชปฏิบัติ ซึ่งเป็นการจบเฉพาะทางมาก็จะจ่ายยาได้มากขึ้นตามกรอบ 18 กลุ่มอาการ ซึ่งไม่ใช่ยาอันตราย หรือจ่ายยาไม่มีกรอบแต่อย่างใด โดยจะสามารถจ่ายยากลุ่มแก้ปวดพวกเอ็นเสด แก้แพ้ ยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น

Advertisement

“ส่วนยากลุ่มโรคเบาหวาน ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรือการเจาะเลือดก็จะอยู่ภายใต้กรอบการควบคุมดูแลของแพทย์ เห็นได้ชัดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ไม่มีเภสัชกร แต่จะมีพยาบาล มีบุคลากรสาธารณสุขอยู่ โดยคนไข้ที่มีโรคประจำตัว ขั้นแรกจะไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เมื่ออาการคงที่ แพทย์จะมีใบสั่งยา และรายละเอียดคนไข้ เพื่อให้ทางพยาบาลจ่ายยาตามแพทย์สั่ง เพื่อลดปัญหาการเดินทางของคนไข้ ที่ไม่สะดวกต้องเดินทางไปรับยาไกลๆ ซึ่งนี่คือความจริงที่โรงพยาบาลห่างไกลต้องปฏิบัติมาตลอด จริงๆ แล้วหากไม่แก้กฎหมายก็ดี เพราะเราก็อยากคืนหน้าที่ตรงนี้ให้ทางเภสัชกร ซึ่งเชื่อว่าแม้จำนวนเภสัชกรไม่มาก แต่ถือเป็นกลุ่มวิชาชีพขาดแคลน ซึ่งหากถึงตอนนั้นเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีนโยบายดำเนินการกระจายบุคลากรด้านเภสัชกรได้” นางวราพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนกังวลว่าพยาบาลจะไปเปิดคลินิกจ่ายยาเองได้หรือขายยาได้ นางวราพรกล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เพราะจริงๆ หากจะเปิดคลินิกตามกฎหมายของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2559 มีการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าจะไปเปิดง่ายๆ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าไม่ได้มีปัญหา พยาบาลก็ยังคงทำงานต่อไป

ด้าน นายสราวุฒิ ที่ดี พยาบาลปฏิบัติการ คลินิกหมอครอบครัว รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และอดีตประธานเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว กล่าวว่า ตนมองว่าหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านไปได้ด้วยดี ทางด้านกระทรวงสาธารณสุขเอง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ก็ต้องออกกฎกระทรวงหรือเรียกอีกอย่างคือกฎหมายลูกรองรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่อีกที เพื่อเป็นการกำหนดเงื่อนไข วิธีการ ที่เป็นการจัดการอุดช่องว่างของกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนที่แสวงหาผลประโยชน์ เช่น การแขวนป้ายขายยาอีกทีหนึ่ง

Advertisement

นายสราวุฒิกล่าวว่า สิ่งที่ควรแก้ไข คือเรื่องของการขัดกันของกฎหมายระหว่าง พ.ร.บ.การพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่กำหนดให้พยาบาลผู้ที่ผ่านการอบรมเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) สามารถจ่ายยาที่จำเป็นเพิ่มอีกหลายรายการนอกจากยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งขัดกันกับ พ.ร.บ.ยานี้ การขัดกันของกฎหมายจึงสมควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากว่าในการศึกษาหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป ซึ่งได้เรียนรู้เรื่องยา การออกฤทธิ์ เสริมฤทธิ์ของยาอาการข้างเคียง ผลกระทบจากการใช้ยา การใช้ยาอย่างสมเหตุผลและอีกมากมาย อันนี้ก็สมควรที่จะกำหนดในกฎกระทรวงให้ชัดเจนไปเลย ว่าถ้าจบเวชปฏิบัติแล้วจ่ายยาได้ ไม่ใช่จบแค่พยาบาลทั่วไป เป็นการกำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าต้องการจ่ายยาต้องไปเรียนเวชปฏิบัติ ซึ่งสามารถที่จะทำได้ในรูปแบบการออกกฎหมายลูกรองรับ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ว่าขาดความรู้ด้านยา เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมาย และเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีของผู้ปฏิบัติ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจของผู้รับบริการ

“การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการรับรองพยาบาลเวชปฏิบัติที่เรียนเฉพาะทางมาแล้วทำทุกอย่างให้หลายๆ อาชีพแต่ขาดการรับรองคุ้มครองโดยกฎหมาย เช่น การจ่ายยาแทนเจ้าหน้าที่เภสัชใน รพ.สต.ด้วยเพราะฉะนั้นการออกกฎหมายทุกอย่างต้องมีการกำหนดรูปแบบ เงื่อนไข วิธีการ ไม่ใช่ออก พ.ร.บ.แล้วจะนำไปใช้แบบทั่วไปได้เลย หรือไม่มีเงื่อนไขใดๆ เลย ซึ่งแบบนั้นอาจมีปัญหาแน่นอน ด้วยความเคารพทุกความคิดแต่พยาบาลผู้ปฏิบัติขอสนับสนุนแนวคิดสภาการพยาบาล และ พ.ร.บ.ยาฉบับนี้” นายสราวุฒิกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image