กทม. รอ รฟม. แจงบัญชีจัดส่งดินขุด ‘อุโมงค์แยกรัชโยธิน’ ตำรวจเรียกให้ปากคำพรุ่งนี้

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการขนย้ายดินจากการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ภายหลังกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตั้งคณะกรรมตรวจสอบ เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนว่ามีผู้ลักลอบนำไปใช้ประโยชน์อื่นแทนที่จะจัดส่งให้หน่วยงานราชการนั้น ว่า กทม.ไม่นิ่งนอนใจต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากดินขุดทั้งหมดจากการก่อสร้างโครงการเป็นกรรมสิทธิ์ของกทม. ซึ่งกทม.อนุญาตให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใช้พื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน โดยสำนักการโยธา ทราบจำนวนดินทั้งหมดจากการขุดอุโมงค์ ประมาณ 80,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องเวียนหนังสือแจ้งหน่วยราชการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ รวม 10 หน่วยงาน รวมมีปริมาณดินที่ร้องขอ ประมาณ 178,000 ลบ.ม. มากกว่าจำนวนดินที่ขุดได้ ส่วนการจัดส่งดินนั้น โดย รฟม.จะเป็นผู้ดำเนินการตามบัญชีจัดส่งดิน เบื้องต้น ทราบว่ารฟม.ได้นำดินจัดส่งให้หน่วยงานที่ร้องขอแล้ว 4 หน่วยงาน อยู่ระหว่างดำเนินการจัดส่ง 1 หน่วยงานและอีก 5 หน่วยงานไม่สามารถจัดส่งได้ เนื่องจากระยะทางเข้าแคบและรัศมีจัดส่งไกลเกินกำหนด

“ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างตรวจสอบดินปลายทาง โดยประสานให้รฟม.ชี้แจงการจัดส่งดิน ภายในวันที่ 31 สิงหาคมกทม.จะทราบว่าการส่งดินไปยังปลายทางนั้นได้จัดส่งตามที่หน่วยงานร้องขอหรือไม่ ช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้เชิญกทม.จัดเตรียมเอกสารร่วมเดินทางไปให้ปากคำ หากการตรวจสอบพบไม่ได้ส่งมอบดินให้กับหน่วยงานราชการครบตามบัญชี ต้องให้รฟม.ชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงจะปรึกษาทีมกฎหมายเพื่อร่วมเป็นผู้กล่าวหา เนื่องจากกทม.เป็นผู้เสียหาย” นายจิระเดช กล่าว

ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงว่า เนื่องจากถนนรัชดาภิเษกเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร โดยกทม.เป็นเจ้าของ ต่อมาส่งมอบพื้นที่ให้ รฟม.ใช้พื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน พร้อมแนบเงื่อนไขทั้งหมด 49 ข้อ ภายในยังมีเงื่อนไขการขนดินและขุดดิน พร้อมจัดทำหนังสือแจ้งรฟม.เพื่อให้ระบุปริมาณดินขุดทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้าง เนื่องดินขุดเป็นกรรมสิทธิ์ของกทม. ซึ่งการคำนวณเบื้องต้นคาดจะมีดินขุดทั้งหมด 50,000 ลบ.ม.ต่อมาด้วยการขุดใช้วิธีการขุดตามแนวลึก ตื้น ฝนทำให้ดินเกิดฟู จึงทำให้มีดินขุดปริมาณ 70,000 ลบ.ม.มากกว่าที่คาดคะเนไว้ จากนั้นสำนักการโยธาได้มีหนังสือแจ้งเวียนราชการให้หน่วยงานสำรวจความต้องการเพื่อส่งมอบดินขุดไปใช้ประโยชน์ ขณะนั้นมีหน่วยงานแจ้งความต้องการรวม 10 หน่วยงานพร้อมระบุปริมาณที่ต้องการชัดเจน ส่วนขั้นตอนการจัดส่งนั้น กทม.จะนำบัญชีจัดส่งดินไปให้รฟม.ดำเนินการ ภายใต้เงื่อนการจัดส่งต้องมีระยะทางรัศมีไม่เกิน 30 กิโลเมตร โดยการขนดินไปยังปลายทางจะต้องรายงานให้สำนักการโยธาทราบและต้องขนดินตามจำนวนที่กทม.อนุญาต อาทิ หากหน่วยงานร้องขอ 1,000 ลบ.ม. รฟม.ต้องจัดส่งตามจำนวน แต่ถ้าหน่วยงานต้องการขอเพิ่มอีก 2,000 ลบ.ม.จะต้องขออนุญาตสำนักการโยธา เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image