ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแสดงจุดยืนไม่เอาสารเคมี 3 ชนิด

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นพ.สรลักษณ์  มิ่งไทยสงค์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางน้ำเปรี้ยว และประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย  ออกแถลงการณ์ของชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ว่า  จากการที่นายวิวัฒน์  ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังจากประชุมคณะกรรมการอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ว่า รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจผลักดันให้เกิดพื้นที่เกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมาย 5 ล้านไร่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศชัดเจนว่า “เรื่องสุขภาพของประชาชนต้องมาก่อน” โดยเน้นให้ประชาชนได้บริโภคอาหารจากผลผลิตจากวัตถุดิบอินทรีย์ ปลอดภัยไม่มีสารพิษ การใช้ปุ๋ยยาจากสารเคมี  โดยเฉพาะเด็กนักเรียน 12 ล้านคนทั่วประเทศ ต้องกินอาหารไม่มีสารพิษ แม้แต่ไนโตรเจนในปุ๋ยเคมี เนื่องจากมีผลต่อการพัฒนาสมองและไอคิวของเด็กซึ่งสุขภาพของเด็กเป็นสิ่งที่

สำคัญที่สุดที่ต้องได้รับการดูแลเนื่องจากเป็นทรัพยากรของประเทศที่ต้องเติบโตเพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป   และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลจำนวน 7 ล้านคนต่อวัน ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารจะต้องเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยจากหน่วยงานที่มีความซื่อสัตย์  สุจริตโปร่งใส  สำหรับปัญหาสารพิษ 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คอร์ไฟริฟอส ไกลโฟรเซต โดยมีจุดยืนคือไม่มีคำว่าลดหรือควบคุมการใช้ ต้องเลิกใช้เท่านั้น

ซึ่งที่ผ่านมานพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ภาควิชาประสาทวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์  ระบุว่า ตนเองเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยรับรู้เพียงปลายทางว่าสารพิษเหล่านี้ทำให้เกิดโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หาย เกษตรกรเจ็บป่วยจากสารเคมีมากกว่า 40 ปี เห็นผู้ป่วยต้องถูกตัดแขนตัดขา ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลมาตลอดว่าไม่เกี่ยวกับสารเคมีดังกล่าวข้างต้นใช้ได้ โดยไม่ได้ออกมารับผิดชอบความเจ็บป่วยของคนไทย และในขณะนี้สภาพเพศของเด็กเปลี่ยนไปเพราะการเหนี่ยวนำของสารไปสู่สมองไปปิดกั้นการพัฒนาในจุดที่ควรพัฒนาความเป็นชาย เป็นหญิง จะพบว่าผู้ชายน่ารักบอบบางมากขึ้นทุกวัน รวมทั้งเด็กๆ จะพบว่ามีปัญหาไอคิวต่ำลง คนป่วยล้นโรงพยาบาล (จากการทำวิจัยมา 40 ปี)

“ จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้ จึงขอสนับสนุนและให้กำลังใจให้นายวิวัฒน์  ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ให้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนชาวไทย   ซึ่งในขณะนี้โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งที่มีพื้นที่พอเพียงสำหรับการปลูกผักอินทรีย์โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีใดๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารให้ผู้ป่วยรับประทาน และมีความพยายามที่จะขยายจำนวนโรงพยาบาลชุมชนให้ปลูกผักอินทรีย์ให้มากขึ้น” นายสรลักษณ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image