ร้อง สธ.ไขข้อสงสัยปมคนเข้าใจผิด ‘สักติดเชื้อเอชไอวี’ เสียชีวิตรวดเร็ว อาจไม่ถูกทั้งหมด

เมื่อวันที่ 3 กันยายน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กรณีหญิงสาวเสียชีวิตที่ญาติระบุว่าเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีหลังรับการสักลายนั้น ตนคิดว่าไม่น่าจะเป็นได้ เพราะจากองค์ความรู้หลังรับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายแล้ว หากไม่ได้รับการดูแลรักษาใดๆ เลยนั้นจะใช้เวลาเฉลี่ยเป็น 10 ปี ถึงจะป่วยเอดส์ และเสียชีวิต ซึ่งก็มักเป็นการเสียชีวิตจากโรคฉวยโอกาสอื่นๆ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำมาก เช่น วัณโรค ซึ่งเป็นโรคฉวยโอกาสที่เกิดได้บ่อยในผู้ป่วยเอดส์ ส่วนโรคฉวยโอกาสอื่นๆ ที่พบได้คือเชื้อราเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น เพราะฉะนั้น เคสที่เสียชีวิตจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีเพียงไม่นาน แต่อาจจะเกิดจากอย่างอื่น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักโรคติดต่อ สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต้องลงไปสอบสวนหาสาเหตุของการเสียชีวิตที่แท้จริง และช่วยกันสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ลดความเข้าใจผิด

นิมิตร์ เทียนอุดม

“เมื่อมีข้อกังขาเกี่ยวกับโรคขึ้นในสังคม การช่วยให้สังคมได้รับข้อเท็จจริงเป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานรัฐ ดูว่าโรคเกิดจากอะไร ต้องเร็ว ต้องสืบสวน สอบสวน และให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน เพราะถ้าบอกว่าเป้าหมายคือลดการรังเกียจ ลดการกีดกัน ลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขด้วยนั้น กระทรวงต้องรีบทำเรื่องนี้ เพราะเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้หากเป็นข้อมูลที่ไม่จริงและสร้างความเข้าใจผิด การเข้าใจผิดนี้จะนำไปสู่การรังเกียจ เลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี กระทบกับเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ของกระทรวงโดยตรง ดังนั้น ต้องรีบดำเนินการ” นายนิมิตร์กล่าว และว่า ต้องให้เขารู้ว่าเอชไอวีหากรู้เร็วรักษาได้ เพราะถ้ารู้เร็วกินยาต้านไวรัสต่อเนื่องสม่ำเสมอสามารถกดปริมาณเชื้อให้ต่ำจนเกือบจะหาไม่เจอ

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้ยังพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่อยู่เรื่อยๆ ในทุกกลุ่ม ซึ่งมีทั้งเยาวชน ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยง ถ้านับตัวเลขก็ราวๆ 6,000-10,000 คนต่อปี ที่สำคัญคือทุกวันนี้ยังเจอคนที่มารับการรักษาด้วยโรคฉวยโอกาสอีกจำนวนไม่น้อยเป็นหลักหมื่น นั่นหมายความว่าในสังคมไทยยังมีผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวอีกมาก ส่วนตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เข้ารับยาต้านไวรัสเอชไอวี ในระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ที่ประมาณปีละ 2 หมื่นราย สำหรับสถานการณ์การใช้ถุงยางอนามัยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 90 ก็ถือว่ายังสูง ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นแม้อัตราการใช้ถุงยางอนามัยจะเพิ่มจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 60 แล้ว แต่ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่พอใจ เพราะถ้าจะให้พอใจก็อยากให้มีอัตราการใช้ถุงยาง 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากว่าตอนนี้นอกเชื้อเอชไอวีแล้วเรายังพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เพิ่มขึ้นทุกจังหวัดทั้งซิฟิลิส หนองใน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริงอยู่ โดยเฉพาะประเด็นผู้ติดเชื้อรายอื่น ส่วนเรื่องร้านสักนั้น จะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งในที่นี้คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีการออกข้อบัญญัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2558 ว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งมอบอำนาจให้ท้องถิ่นดูแล แต่ในส่วนการควบคุมโรค ขณะนี้มีการดำเนินการอยู่แล้ว

Advertisement
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

ด้าน นพ.วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวว่า หญิงรายดังกล่าวเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อหลายอย่าง ก่อนที่จะเสียชีวิต ส่วนรายละเอียดของอาการและตัวโรคของการเสียชีวิตนั้น คงต้องไปสอบถามกับทางญาติของผู้เสียชีวิตเอง เนื่องจากเป็นสิทธิของผู้ป่วย
นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีการสักและติดเชื้อเอชไอวีว่ากรณีการติดเชื้อเอชไอวีอย่างเฉียบพลันนั้นจะเกิดขึ้นภายใน 3 -4 สัปดาห์จะแสดงอาการคล้ายไข้หวัดเป็นไข้มีผื่นแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต ซึ่งกรณีนี้คาดว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการสักลาย อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำแนะนำห้ามไม่ให้คนติดเชื้อเอชไอวีสักลายเนื่องจากไม่ใช่วิธีการป้องกันโรคที่ดี เพราะคนทั่วไปและคนที่ไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อก็อาจไปสักได้ การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ดีที่สุด อย่างหากต้องการสัก ก็ต้องเลือกร้านที่ทำความสะอาดดี เปลี่ยนหัวเข็ม ที่สำคัญในกลุ่มผู้ติดเชื้อเองจะต้องรับประทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image