รองคณบดีนิติ ม.รังสิต ชี้เหตุคืนสัญชาติไทยพลัดถิ่นช้า เห็นด้วยตั้งชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 นายวิศรุต สำลีอ่อน รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการพิจารณาคืนสัญชาติให้กับชาวบ้านกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องทนความยากลำบากเพราะไม่ได้รับสิทธิต่างๆ เหมือนพลเมืองไทย ว่าจากตัวเลขที่กระทรวงมหาดไทยเคยสำรวจไว้พบว่ามีคนไทยพลัดถิ่นอยู่ราว 1 แสนคน แต่ปัจจุบันเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์และได้สัญชาติราว 1 หมื่นคน หรือประมาณร้อยละ 10 ในช่วงเวลา 4 ปี แต่ก็น่าเห็นใจภาคราชการเพราะในแต่ละอำเภอส่วนใหญ่มอบหมายให้ปลัดที่รับผิดชอบงานทะเบียนราษฎรเป็นผู้ดูแล ซึ่งมีเพียง 1 คน และปลัดยังต้องทำงานอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งอย่างมากทำได้วันละไม่เกิน 2-3 คน แต่ไม่ใช่ทำเรื่องนี้ได้ทุกวัน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าส่วนราชการมีกำลังคนน้อยมากที่ทำงานเรื่องนี้

นายวิศรุตกล่าวว่า สาเหตุของความล่าช้าอีกประการหนึ่ง คือเรื่องของทัศนคติที่ข้าราชการบางคนมองว่าชาวบ้านสวมสิทธิหรือมีกระบวนการแจ้งชื่อที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่อยากทำเรื่องให้ เมื่อมีการยื่นคำร้องก็ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนพร้อมทั้งสั่งให้ไปหาพยานหลักฐานต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะบางครั้งชาวบ้านเข้ามาอยู่เป็นเวลานานแล้ว ทำให้พยานต่างๆ ล้มหายไปหมดแล้ว

รองคณบดีกล่าวว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ส่งนักศึกษาเข้าไปช่วยเก็บข้อมูล หรือทำหน้าที่คล้ายผู้ช่วยปลัดในพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดประจวบฯมาเป็นเวลา 3 ปี โดยลงพื้นที่มาแล้ว 4 ครั้ง ทำให้กระบวนการคืนสัญชาติเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น โดยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับกรมการปกครอง มูลนิธิชุมชนไท คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลและเขียนคำร้องร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดประจวบฯได้ร้อยละ 90 ของจำนวนคนไทยพลัดถิ่นในบริเวณนี้

“ฝ่ายวิชาการเคยเสนอให้กรมการปกครองช่วยจัดทีมเฉพาะกิจจากส่วนกลางเข้าไปช่วย เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็วขึ้น เพราะในพื้นที่ต่างมีงานล้นมือ ขนาดพวกเราส่งนักศึกษาลงไปช่วย ยังสามารถทำงานได้เร็วขึ้น หากทางกรมการปกครองส่งทีมที่ได้รับความเชื่อถือลงไปอีก เชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของปลัดอำเภอที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดี” นายวิศรุตกล่าว

Advertisement

รองคณบดีกล่าวว่า กรณีที่ชาวบ้านคนไทยพลัดถิ่นร้องเรียนว่าถูกจำหน่ายชื่อออกหลังจากเคยยื่นคำร้องไปแล้วนั้น จากการลงพื้นที่พบว่ามีจำนวนไม่น้อย โดยสาเหตุน่าจะมาจากครั้งหนึ่งได้มีการตรวจพบการทุจริตในบางจังหวัดเพราะมีเจ้าหน้าที่ไปรับเงิน ทำให้การขึ้นทะเบียนในช่วงระยะเวลานั้น ชาวบ้านถูกจำหน่ายชื่อออกครั้งใหญ่โดยไม่มีการตรวจสอบรายละเอียด ซึ่งรายชื่อคนกลุ่มนี้ได้ถูกล็อกไว้ และหากจะเดินหน้าก็ต้องปลดล็อกก่อน

ด้านนายวีนัส สีสุข ผู้อำนวยสำนักการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาอธิบดีกรมการปกครองได้เรียกประชุมผู้บริหารใน 28 อำเภอ ซึ่งมีเป้าหมายเรื่องชนกลุ่มน้อย โดยอธิบดีได้มอบนโยบายไว้ชัดเจนว่าอย่าไปทะเลาะกับชาวบ้าน เมื่อมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น และยังได้เร่งรัดให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว หากติดขัดประการใดให้ประสานเข้ามา ซึ่งทางกรมการปกครองจะช่วยดูแลให้

นายวีนัสกล่าวว่า ในส่วนของการคืนสัญชาติให้กับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่หลายคนวิจารณ์ว่าเป็นไปอย่างล่าช้านั้น ต้องถามว่าช้าอย่างไร ช้าเพราะหลักฐานไม่ครบหรือช้าเพราะระบบ ซึ่งคนไทยพลัดถิ่นใน 5 จังหวัดที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย 1.6 หมื่นคน ก็ได้พิจารณาไปแล้วจำนวนไม่น้อย สำหรับข้อเสนอที่ให้กรมการปกครองจัดชุดเฉพาะกิจลงไปในพื้นที่นั้น จริงๆ แล้วอำนาจการคืนสัญชาติเป็นของคณะกรรมการรับรองคนไทยพลัดถิ่นและอำเภอที่ช่วยกลั่นกรอง หากจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ต้องถามว่าให้ไปทำอะไร เพราะอย่างเก่าก็แค่รับคำร้อง อย่างไรก็ตามหากในพื้นที่เห็นว่าทำไม่ทันจริงๆ ก็สามารถทำเรื่องเสนอขอมาได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนางหวิน ปลอดโปร่ง ชาวบ้านไร่เครา อำเภอเมือง จังหวัดประจวบฯ ที่ยังถือบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ทั้งๆ ที่อยู่นานกว่า 40 ปี แต่ยังไม่ได้คืนสัญชาติ นายวีนัสกล่าวว่า จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้ควรถือบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ซึ่งเป็นการสำรวจซ้ำจากครั้งแรกที่ให้บัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า แต่นางหวินอาจตกสำรวจจึงยังไม่ได้บัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย โดยนางหวินต้องไปยื่นเรื่องใหม่ และหากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นคนไทยพลัดถิ่นจริง เช่น มีญาติที่อยู่ฝั่งไทยยืนยัน ก็จะทำให้นางหวินได้รับคืนสัญชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image