“เอทู” นวัตกรรมน้ำนม ทางเลือกใหม่ สำหรับคนขี้แพ้

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมมือกับ 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมผลงานวิจัยให้กับเอกชนสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกการดำเนินการของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้แผนงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน หรือที่เรียกว่า Collaborative Research

      

 

งานวิจัยชิ้นล่าสุด ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ทางด้านอาหาร อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับบริษัท แมรี่แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมโคสดแท้ 100% ที่มีคุณภาพสูงประกอบด้วยโปรตีนเบต้าเคซีนชนิดเอทู (A2) ภายใต้ชื่อสินค้า เอ็ม มิลค์ (mMilk)

Advertisement

ศ.มนต์ชัย ดวงจินดา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ กล่าวว่า ได้ศึกษาเพื่อค้นหาเครื่องหมายพันธุกรรม ของเบต้าเคซีนชนิดเอสอง (A2 -casein type) ที่เกี่ยวข้องกับน้ำนมสุขภาพ Functional milk ในโคนม ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท แมรี่แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยศึกษาเชิงลึกด้านคุณสมบัติ โดยการค้นหาเครื่องหมายพันธุกรรมของ Casein ชนิด เอทู

ศ.มนต์ชัย ดวงจินดา

“วิธีการคือ การเก็บตัวอย่างเลือดโคนมมาปั่นเหวี่ยง เพื่อให้ได้เม็ดเลือดขาวสำหรับนำไปสกัด Total DNA และใช้เทคนิค RT-PCR ตรวจสอบรูปแบบจีโนไทป์ (Genotype) จากนั้นวิเคราะห์ความถี่จีโนไทป์และยีน ซึ่งผลการวิจัยทำให้เอกชนมีความสามารถในการคัดเลือกแม่โคด้วย Genetic marker ที่ระบุจีโนไทป์เอทู เพื่อสร้างและขยายฝูงโคนมที่ผลิต Casein ชนิด เอทู เพิ่มขึ้นได้ จนในที่สุดสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์นมน้ำตาลแลคโตส 0% เป็นนมที่ดื่มได้อย่างสบายท้อง เพราะย่อยง่าย และสามารถดูดซึมคุณค่าสารอาหารธรรมชาติ จากนมโคแท้ 100% ได้มากกว่านมปกติทั่วไป เหมาะสำหรับทุกคนในครอบครัว และผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตส” ศ.มนต์ชัยกล่าว

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เอ็มมิลค์ ชนิดเอทู ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในปี 2561 ที่นอกจากจะสร้างศักยภาพการแข่งขันให้เอกชนเข้มแข็งแล้ว ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำมายกระดับการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าน้ำนมดิบ เหมาะที่จะนำมาผลิตนมฟังก์ชั่นให้กับผู้บริโภคกลุ่มห่วงใยสุขภาพและกลุ่มที่แพ้นมโค เพื่อผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มคนไทยที่ห่วงใยสุขภาพ (Niche market) และเป็นหนทางในการเพิ่มมูลค่าน้ำนมเพื่อเกษตรกรไทย (Value added) รวมถึงเป็นแนวทางในการรับมือผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน

“ผลกระทบต่อชุมชนคือรายได้ที่สูงขึ้นของกลุ่มเกตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ได้แก่ ร้อยเอ็ด อุดรธานี นครราชสีมา รวมถึงในภาคกลางและใต้ทั้งราชบุรีและนครศรีธรรมราช รวมกว่า 1,200 ครอบครัว รับซื้อน้ำนมดิบได้วันละ 300 ตัน ที่ได้ราคาสูงขึ้นและต่อเนื่อง รวมถึงเกิดการจ้างงานชุมชน ทั้งนี้ ทางเอกชน
ยังมีแผนลงทุนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยขยายขนาดพื้นที่โรงงาน จำนวน 60 ไร่ ที่สามารถรับรองโรงงานผลิตขนาด 2,500 ตารางเมตร ซึ่งจะมีคลังสินค้ากว่า 8,000 ตารางเมตร อีกทั้งยังจะส่งเสริมให้มีศูนย์รับน้ำนมดิบจากเกษตรกรเป็นของตัวเองด้วย” น.ส.ทิพวัลย์กล่าว

ผู้อำนวยการ สอว.กล่าวว่า ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับบริษัท แมรี่ แอนด์ แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ทางวิชาการและการวิจัย ได้ใช้สถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรกรรมร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด เพื่อใช้เป็นสถานที่บริการฝึกอบรมนักศึกษาและเกษตรกร เพื่อสร้างคนในอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำนม

นอกจากนี้ได้จัดตั้งเป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม และพัฒนาให้เป็นสถานีฝึกอบรมและวิจัยด้านโคนมและการแปรรูปน้ำนมในรูปแบบพึ่งตนเอง โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ในการผลิตโคนมกับเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตนมที่เป็นผลิตภัณฑ์นมตัวใหม่ เพื่อสุขภาพ โดยใช้นวัตกรรมจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการตลาดที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคคนไทยอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image