ช่างสักขอ ‘ใบประกอบวิชาชีพ’ เผยทั่วปท.มี5พันราย กทม.เผยขึ้นทะเบียนถูกกม.แค่50ร้าน

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 5 กันยายน นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย พญ.อริศรา ทัตตากร ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นายพงศธร ศิริธรรม ผู้อำนวยการสำนักเขตพระนคร นางณัฐกนก โอภาสสถิตย์กุล หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลเขตพระนคร เจ้าหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลเขต สำนักอนามัย และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบร้านสักที่ไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ถนนข้าวสาร เขตพระนคร ภายหลังมีกระแสข่าวว่าหญิงรายหนึ่้งไปใช้บริการสักลายในย่านคลองหลอด เขตพระนคร และในเวลาต่อมาได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือด แต่ปรากฎว่าร้านสักในถนนข้าวสารประมาณ 10 แห่ง ส่วนใหญ่ยังไม่เปิดให้บริการเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้

นายทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า ร้านสักเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2554 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 อยู่ในกลุ่มกิจการที่เกี่ยวกับการบริการ ลำดับที่ 9.15 การสักผิวหนัง การเจาะหูหรือเจาะอวัยวะอื่น โดยผู้ประสงค์จะประกอบกิจการดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 33 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560 หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 17 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยปัจจุบันมีร้านสักที่ได้รับอนุญาตในพื้นที่กรุงเทพฯ เพียง 50 แห่ง โดยในพื้นที่เขตพระนครมี 17 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 33 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งพบมากในแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่เศรษฐกิจ

Advertisement

“ร้านสักที่ไม่ได้ขออนุญาต กทม.ยังไม่ได้มีการสำรวจ โดยเฉพาะร้านที่ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีหลักแหล่ง เพราการตรวจสอบจะทำได้ยาก” นายทวีศักดิ์ กล่าวและว่า การสักลายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เจ้าของกิจการจะต้องยื่นขอใบอนุญาตเปิดร้านที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ยังสำนักงานเขตที่กิจการนั้นตั้งอยู่ เมื่อยื่นขอใบอนุญาตแแล้วเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบ อุปกรณ์ตามหลักสุขอนามัย รวมถึงผู้ประกอบการ จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามมาตรา 32 (2) พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีใบรองรับแพทย์ ผ่านการคัดกรองสุขภาพและไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เพราะหากดำเนินการไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ใช้บริการ ขณะที่ข้อแนะนำต่อผู้ใช้บริการนั้น ต้องระมัดระวัง ขอตรวจสอบใบอนุญาตประกอบกิจการตามร้านสัก สังเกตความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์

สีที่ใช้ในการสัก

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ ได้กำชับให้ 50 เขต เร่งสำรวจตรวจสอบร้านสักลายที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ หากพบต้องให้หยุดกิจการทันที พร้อมให้ไปดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน ส่วนร้านสักลายที่ตั้งริมทางเท้า หรือมีลักษณะเป็นแผงจรนั้น สามารถใช้ทั้ง พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ดำเนินการ ส่วนการสักตามสำนักสงฆ์หรือวัด มอบหมายให้สำนักอนามัย ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าไปพูดคุย เร่งทำความเข้าใจ สำหรับการสักปัจจุบันแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เพื่อความสวยงาม และตามความเชื่อ ประเพณี ซึ่งการสักประเภทนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว

เข็มสัก

นอกจากนี้ นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการสักลาย อาชีพช่างสัก ยังไม่มีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน ดังนั้น ผู้ประกอบการบางรายจึงต้องการให้มีการจดทะเบียนวิชาชีพด้านการสักลายถูกต้องตามกฎหมาย โดย กทม.จะรับเรื่องดังกล่าวนำไปพิจารณา นอกจากนี้ กทม.ยังได้ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพฯ ปัจจุบันผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้ว อยู่ระหว่างแก้ไขบางประเด็น คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนกรณีผู้เสียชีวิต 4 ราย หลังเดินทางไปสักลาย ที่ร้านบริเวณคลองหลอด เบื้องต้นทราบว่า ผู้เสียชีวิตได้ติดเชื้อเอชไอวีมาก่อนแล้ว 1 ปี และเสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคม อาจไม่เกี่ยวข้องกับการสักลาย

Advertisement
นายนนทิวัฒน์ จันทรประสิทธิ์

ด้านนายนนทิวัฒน์ จันทรประสิทธิ์ อายุ 50 ปี เจ้าของร้านอัพทูยู แทททู ย่านถนนข้าวสาร และในฐานะเลขานุการชมรมช่างสักและผู้ประกอบการร้านสักแห่งประเทศไทย (National Association Of Thailand tattoo Artists: NATTA) กล่าวว่า เปิดกิจการมา 12 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว ลูกค้าเป็นชาวต่างชาติร้อยละ 90 ส่วนร้อยละ 10 เป็นคนไทย ปกติชาวต่างชาติไม่ได้ขอดูใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่จะขอดูความสะอาดของอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการสัก โดยเฉพาะเข็มต้องแกะบรรจุภัณฑ์โชว์ให้เห็นก่อนสัก

นายนนทิวัฒน์ กล่าวถึงกระแสข่าวสาวติดเชื้อเอชไอวีจากการสักลายว่า มองว่าเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะร้านสักที่มีมาตรฐานจะจัดเตรียมเครื่องมืออย่างเป็นระบบ การสักจะสักทีละคน ส่วนเข็มหรืออุปกรณ์ที่ใช้แล้วจะต้องทิ้งทันที และแยกทิ้งเป็นประเภทขยะติดเชื้อ อีกทั้งเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทุกครั้ง ส่วนผู้สักเองนั้นต้องผ่านการตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน ตามหลักสุขาภิบาลอนามัยของ กทม.

“อาชีพช่างสัก ยังไม่สามารถขอจดทะเบียน เพื่อขอใบรองรับวิชาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ อีกทั้ง ชมรมเคยต่อสู้เพื่อเรียกร้องประเด็นดังกล่าวเมื่อ 3-4 ปีก่อน เหตุเพราะอยากให้อาชีพช่างสักได้รับการควบคุมและมีเกณฑ์มาตรฐานกำหนด แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทำได้เพียงจดทะเบียนเป็นการพาณิชย์และขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น อนาคตหากอาชีพช่างสักถูกขึ้นทะเบียนมองว่าอันตรายที่เกิดขึ้นกับประชาชนจะลดลง ขณะเดียวกัน อาชีพช่างสักเติบโตมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีร้านสักทั่วประเทศราว 5,000 ราย ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯมีสมาชิกอยู่ในชมรมช่างสัก ทั้งที่มีและไม่มีใบอนุญาตกว่า 1,000 ราย ซึ่งทุกวันนี้ชมรมต้องกำกับ ดูแล และควบคุมกันเอง พร้อมกำหนดข้อตกลงร่วมกันเบื้องต้น คือ ห้ามสักให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี พิจารณาตำแหน่งการสัก รวมถึงลวดลายที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนาจะต้องสักในตำแหน่งไม่เหมาะสม” นายนนทิวัฒน์ กล่าว

ขณะที่นายกฤตย์ เหลืองเช็ง อายุ 38 ปี เจ้าของร้านบีเคเค อิงค์ (BKK INK) กล่าวว่า ร้านเปิดมาแล้ว 7 ปี ราคาสักจะเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ก่อนจะทำการสักทางร้านจะมีกฎและข้อตกลงก่อนจะทำการสักลายด้วย อาทิ งดสักให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่เป็นโรคร้าย ไม่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ไม่มีอาการมึนเมาจากสุราหรือสารเสพติด ดูแลรักษาตามคำแนะนำ เป็นต้น และว่าเป็นช่างสักมาแล้วกว่า 20 ปี ส่วนตัวเห็นคุณสมบัติของช่างสัก ผู้จะเปิดร้านสักหรือสักให้ผู้อื่นได้ จะต้องมีความรู้ เชี่ยวชาญ รักและรับผิดชอบในอาชีพนี้ สิ่งสำคัญอยากให้มีกฎระเบียบเพื่อควบคุมอาชีพช่างสัก ไม่ให้มีผู้อื่นเข้ามาฉาบฉวยและสร้างความเสียหายต่อวิชาชีพนี้เช่นเดียวกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image