อันตราย! ผู้สูงวัยเสี่ยงฆ่าตัวตาย เหตุปัจจัยใกล้ตัว หลายคนอาจมองข้าม

เมื่อวันที่  7 กันยายน  ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวในโครงการการสัมมนาการป้องกันการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 12 ว่า  ช่วงที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกเผยแพร่ข้อมูลการฆ่าตัวตายของประเทศไทยว่าสูงถึง 16 คนต่อแสนประชากร   ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอทราบวิธีการคำนวณอัตราการฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม ส่วนของประเทศไทยใช้หลักการคำนวณที่เป็นมาตรฐานสากล โดยใช้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จที่ยืนยันในใบมรณบัตรคำนวณร่วมกับสถิติประชากรกลางปีที่ได้จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายของไทยลดลงเรื่อยๆ

นพ.ณัฐกร  กล่าวอีกว่า  จากการสำรวจโดยการใช้ใบมรณบัตรดังกล่าว พบว่า ในปี 2558 มีอัตราฆ่าตัวตาย 6.47  คนต่อแสนประชากร ปี 2559 อยู่ที่ 6.35 คนต่อแสนประชากร และปี 2560 ข้อมูลถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 อัตราฆ่าตัวตาย 6.03 คนต่อแสนประชากร แต่อัตราการฆ่าตัวตายกลับสูงขึ้นในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุบางกลุ่มในช่วงระหว่าง 60-64 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากถึง 9-10 คนต่อแสนประชากร  ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก  ส่วนในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นก็พบการฆ่าตัวตายเช่นกัน ในกลุ่มเฉลี่ยอายุ 10-19 ปี พบประมาณปีละ 140-160 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเมื่อเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายทั้งหมด 4,000 คน ถือว่ายังไม่มาก แต่ทั้งหมดก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องหามาตรการในการป้องกันเพิ่มขึ้น

“ ส่วนปี 2561 ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลที่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม  ในฐานะผู้เสพสื่อปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่นิ่งเฉยไม่ได้    ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามพื้นที่ พบว่า ภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศ ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอัตราฆ่าตัวตายต่ำที่สุดในประเทศ” นพ.ณัฐกรกล่าว

Advertisement

รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การป้องกันฆ่าตัวตาย จะต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ 1.ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมักจะแก้ไม่ได้ เช่น มีประวัติการฆ่าตัวตายมาก่อน ครอบครัวเคยมีการฆ่าตัวตาย มีการใช้สารเสพติด หรือมีโรคทางจิตเวช จะต้องใช้วิธีในการเฝ้าระวัง 2. ปัจจัยกระตุ้น เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงไม่ได้เช่นกัน แต่ฝึกเรื่องวิธีการจัดการปัญหาได้ และ 3.ปัจจัยปกป้อง คือ ดูแลสุขภาพกายและจิตได้ดี การเชื่อมโยงกับคนรอบๆ มีทักษะชีวิตดี ยอมรับนับถือตัวเอง จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายลงได้ ซึ่งปีนี้สมาคมจิตแพทย์ฯ เน้นเรื่องการเชื่อมโยงเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถช่วยเหลือกันได้

“มีผลวิจัยชัดเจนว่า คนที่มีความเชื่อมโยงกับบุคคลรอบๆ ข้างได้มาก อัตราทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายจะต่ำกว่าคนที่โดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อน แต่การเชื่อมโยงกับคนรอบๆ ข้างไม่ได้หมายความว่า การมีเพื่อนในไลน์และเฟชบุ๊กมาก หรือมีคนติดตามทางโซเชียลมีเดียมาก แต่ต้องเป็นคนที่เไว้ใจ ไม่ตัดสินเรา อาจจะไม่ใช่คนที่แก้ปัญหาให้เราได้ แต่ช่วยรับฟังเราได้ แค่เพียงคนเดียวก็ยังดี จะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งมีผลวิจัยว่าถ้ามีเพื่อนที่เราไว้ใจได้ 3-4 คน จะอัตราลดลงฆ่าตัวตายลง 75% หากมี 5-6 คน ลดได้ 89% เพราะในทางจิตวิทยา หากเรามีเพื่อนเราจะรู้สึกว่าเรารู้สึกดีกับตัวเอง และเมื่อเราอยู่ในจุดที่เราตึงเครียด หรือทุกข์ใจก็มีจะคนที่คอยรับฟังเรา ซึ่งไม่เพียงแต่เขาช่วยดูแลเรา หากเขามีปัญหาเราก็ต้องดูแลเขาด้วย”รศ.นพ.ชวนันท์ กล่าว

รศ.นพ.ชวนันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีแนวโน้มเป็นสังคมโดดเดี่ยวหรืออยู่คนเดียวมากขึ้น โดยเฉพาะวัยทำงาน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่เกษียณ คนที่บ้านก็มักจะมองว่า เขาเป็นวัยที่ปลงแล้ว สามารถอยู่คนเดียวได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ซึ่งวัยผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูง เพราะเผชิญความสูญเสียมาก ทั้งจากการสูญเสียงานที่ทำจากการเกษียณ การสูญเสียศักยภาพทางด้านร่างกาย หรือโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งหากเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีประโยชน์ และอยู่ตัวคนเดียวก็มีโอกาสสูงที่จะฆ่าตัวตายได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนในครอบครัวจะต้องสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน หรือการมีชมรมผู้สูงอายุที่ทำให้เขาได้เจอคนรอบๆ ตัวมีเพื่อนที่เจาไว้ใจได้ก็จะช่วยได้เช่นกัน

รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image